ชูชีพ ภาค 2

จริง ๆ ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับชูชีพเอาไว้แล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่จากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ทำให้หลายๆคนพูดกันว่า ใส่เสื้อชูชีพแล้วทำไมยังจม ทำไมถึงยังเสียชีวิต วันนี้ผมเลยอยากที่จะพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง

ชูชีพกับคนเล่นเรือ

จริงๆแล้วเป็นของที่คู่กัน แต่ก็มีคนเล่นเรือไม่น้อยเลยที่ไม่ยอมใส่เสื้อชูชีพ เผลอๆอาจจะไม่มีในเรือซะด้วยซ้ำ และ พอโดนทักก็จะบอกว่า ก็ว่ายน้ำเป็นทำไมต้องใส่ ไม่อยากใส่เพราะใส่แล้วอึดอัด จากสถิติทั่วโลกที่เค้าทำออกมาให้ดูกัน 70% ของคนที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ และ 9 จาก 10 คนที่จมน้ำ ส่วนใหญ่เกิดในน้ำจืดที่ห่างฝั่งไม่มาก

ชูชีพในปัจจุบันมีแบบต่างๆให้เลือกมากมาย มีทั้งแบบทีสวยงามใส่สบาย แบบที่มีกระเป๋าสำหรับใส่ของได้ด้วย มีแบบเป่าลม และ อีกหลายแบบเลย แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สายรัด หรือ ซิปทุกสายทุกจุดที่เค้าให้มาเราควรที่จะใส่ให้ครบ ไม่ใช่แค่ใส่ตรงกลาง 2 อัน แล้วจบ เพราะแบบนั้นเท่ากับคุณไม่ได้สวมชูขีพเลย เพราะเมื่อเราตกน้ำถ้าเราไม่รัดสายที่เป้า ชูชีพสามารถที่จะหลุดออกจากตัวของเราได้ และ การที่ใส่เสื้อชูชีพเวลาที่เราอยู่ในน้ำนั้นไม่ง่ายเลย ยิ่งในสภาวะคลื่นลมแรงต้องบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ย้อนกลับไปที่คำถามที่ด้านบน ว่าใส่เสื้อชูชีพแล้วทำไมถึงยังเสียชีวิต เสื้อชูชีพ นั้นมีหลายแบบ แบบที่เราเห็นตามเรือทั่วๆไปส่วนใหญ่พวกนั้นเป็นแค่เสื้อสำหรับพยุงตัว ไม่ใช่เสื้อชูชีพ เสื้อพวกนั้นไม่สามารถที่จะพลิกให้เรานอนหงายเวลาที่ตกน้ำได้ ถ้าคนที่ใส่เสื้อประเภทนี้หมดสติ เวลาที่ตกน้ำ หน้าอาจจะคว่ำทำให้หายใจไม่ได้ และ เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ และ อย่างที่ผมได้พูดไว้ว่าเสื้อประเภทนี้เป็นแค่เสื้อสำหรับพยุงตัว และ มีจะมีอัตราการลอยที่ต่ำกว่าเสื้อชูชีพจริงๆ ทำให้สามารถพยุงตัวอยู่ในน้ำได้ไม่นานมาก และ อาจจะทำให้จมน้ำได้เช่นกัน เที่ยวนี้เรามาดูกันว่า ชูชีพมีกี่ประเภท?

ตามหลักสากลแล้วตอนนี้เค้าแบ่งชูชีพเป็น 5 ประเภท

ประเภทที่ 1 ชูชีพสำหรับออกทะเล หรือ Off Shore PFD ขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดนะครับเดี๋ยวจะงงว่า PFD คืออะไร คำว่า PFD เป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า Personal Floating Device ถ้าคนที่เคยอ่านบทความเก่าๆของผมน่าจะเคยเห็นคำนี้มาบ้างแล้ว เสื้อชูชีพประเภทนี้ เค้าออกแบบมาสำหรับให้พยุงตัวได้ในสถานะการณ์คลื่นลมแรงกลางทะเล โดยจะมีคุณสมบัติที่เด่นคือ สามารถที่จะพลิกตัวคนใส่ให้นอนหงายหน้าได้ และ สามารถพยุงตัวได้ในเวลาที่นานพอสมควร

มาถึงตรงนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมนิดนึงนะครับ การที่เสื้อชูชีพต้องออกแบบให้มีคุณสมบัติที่สามารถที่จะพลิกตัวให้คนที่สวมใส่นอนหงายหน้าได้เพราะ ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้เราหมดสติตกน้ำ ถ้าเสื้อชูชีพที่เราสวมใส่อยู่ไม่สามารถพลิกให้เราแหงนหน้าขึ้น ด้วยความที่เราหมดสติเราก็อาจจะนอนหน้าคว่ำในน้ำทำให้หายใจไม่ได้ และ เสียชีวิตได้ คุณสมบัติข้อนี้เลยเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นมากๆสำหรับเสื้อชูชีพ

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเสื้อชูชีพที่เราเห็นกันโดยทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหน หรือ แบบใหน และ มีราคาแพงขนาดใหน ล้วนมีเวลาในการลอยตัวทั้งนั้น เพราะวัสดุที่นำมาใช้ในการทำชูชีพนั้นมีค่าการลอยตัวสูญเสีย ที่แตกต่างกัน ตัวที่แพงๆก็จะมีค่าการลอยตัวสูญเสียที่ต่ำกว่า ทำให้ลอยตัวได้นานกว่า หลายคนอาจจะสงสัยว่า คำว่า ค่าการลอยตัวที่สูญเสีย หมายถึงอะไร คำว่าค่าการลอยตัวที่สูญเสีย ถ้าให้ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ขอนไม้ที่ลอยอยู่ในน้ำ ถ้าขอนไม้ลอยอยู่ในน้ำนานๆเมื่อเนื้อไม้ได้ซึมซับน้ำเข้าไปในตัวเองจนเต็มขอนไม้นั้นก็จะจมลงสู่ใต้น้ำ เช่นเดียวกันกับเสื้อชูชีพ วัสดุที่ใช้ก็จะค่อยๆซึมซับน้ำเข้าไปทีล่ะนิด เมื่อเค้าซึมซับน้ำเข้าไปจนเต็มที่ก็จะทำให้เค้าสูญเสียค่าการลอยตัว

ชูชีพประเภทที่ 2 เสื้อชูชีพสำหรับน้ำจืด หรือ สำหรับใกล้ฝั่ง หรือ Near Shore PFD เสื้อชูชีพประเภทนี้ก็คือเสื้อชูชีพที่เราเห็นเค้าใช้กันทั่วๆไป เสื้อชูชีพประเภทมีมีค่าการลอยตัวที่ไม่มากนัก เพราะเค้าออกแบบสำหรับการใช้งานที่ไม่ห่างจากฝั่งมากนัก สามารถที่จะมีคนมาช่วยได้ในเวลาไม่นานนัก เสื้อชูชีพประเภทนี้มีทั้งแบบที่สามารถพลิกให้เราแหงนหน้าได้ และ ไม่ได้ คนที่สวมใส่ต้องรับความเสี่ยงกันเอาเอง แต่ราคาก็ถูกกว่าแบบแรกที่เราพูดถึงไปพอสมควร

ชูชีพประเภทที่ 3 Floating Aid หรือ เสื้อชูชีพสำหรับพยุงตัว เสื้อชูชีพแบบนี้เป็นชูชีพที่สวมสบาย และ เวลาที่สวมใส่เราสามารถที่จะขยับตัวได้ง่าย แต่เหมาะสำหรับที่จะใช้ในสภาพน้ำที่เรียบๆ และ ตื้นๆเท่านั้น เพราะเสื้อชูชีพประเภทนี้เป็นแค่เสื้อสำหรับใช้ในการพยุงตัวในน้ำเท่านั้น ไม่สามารถที่จะพลิกตัวเราให้หงายหน้าได้ แต่ก็เพียงพอสำหรับใช้ในการเล่นเรือ ตามกฎของ USGC (US Gulf Coast)

แบบที่ 4 Throwable Device ชูชีพประเภทนี้ไม่ได้มาเป็นรูปแบบของเสื้อ แต่มาในรูปแบบของที่ใช้สำหรับโยนไปช่วยเหลือคนที่อยู่ในน้ำ มีทั้งรูปแบบที่เป็นแบบห่วงยาง และ แบบที่เป็นแผ่น โดยจะมีเชือกผูกไว้สำหรับโยนไปให้คนที่ตกน้ำ และ สามารถที่จะดึงเค้าเข้ามาใกล้ๆเรือได้ แต่อุปกรณ์ประเภทนี้เค้าออกแบบมาสำหรับใช้คู่กับเสื้อพยุงตัว หรือ เสื้อชูชีพ

แบบที่ 5 เป็นแบบที่เค้าทำออกมาเฉพาะสำหรับกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น เสื้อชูชีพสำหรับคนที่นิยมการล่องแก่ง เสื้อชูชีพประเภทนี้นอกจากที่จะทำให้ไม่จมแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยกันกระแทกได้อีก เสื้อชูชีพสำหรับใส่ทำงานตามแท่นขุดเจาะน้ำมัน เสื้อชูชีพแบบพองลม ทั้งด้วยมือ และ ออโตเมติก พวกนี้ล้วนจัดเป็นเสื้อชูชีพแบบที่ 5

ใหนๆเราพูดถึงเสื้อชูชีพแบบพองลมแล้วขออธิบายเพิ่มเติมนิดนึงสำหรับคนที่อาจจะไม่รู้จักนะครับ เสื้อชูชีพแบบนี้เหมือนกับที่แอร์โฮสเตสเค้าสาธิตให้เราดูเวลาที่เราขึ้นเครื่องบิน แต่สำหรับที่ใช้ในเรือหน้าตาอาจจะไม่เหมือนกับอันบนเครื่องบินสักเท่าไหร่ แต่หลักการทำงานจะเหมือนกัน คือ เสื้อชูชีพประเภทนี้จะพองลมด้วยท่อแก๊ส C02 เหมือนที่ใช้ในปืนลม เสื้อแบบนี้ก็ยังมีแยกเป็น 2 ประเภทอีก คือ ประเภทที่ทำงานอัตโนมัติ เมื่อเซนเซอร์โดนน้ำ ท่อแก็สก็จะปล่อยลมออกมาเองอัตโนมัติ และ แบบที่เราต้องกระตุกเชือกด้วยตัวเราเอง เสื้อประเภทนี้ต้องบอกว่าเป็นเสื้อที่ใส่สบายกว่าเสื้อชูชีพที่เราเห็นทั่วๆไปมาก เพราะมีขนาดที่เล็กกว่า บางกว่า เพราะไม่มีโพมแผ่นอยู่ด้านในทำให้ใส่แล้วยังสามารถทำงาน หรือ ทำกิจกรรมต่างๆได้สบายๆ

เราพูดถึงเสื้อชูชีพกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่าแล้วเราควรที่จะเลือเสื้อชูชีพอย่างไร

ข้อแรกเลย เหมือนที่เราได้พูดกันในข้างต้นว่าเราควรที่จะเลือกเสื้อชูชีพที่สามารถที่จะพลิกให้เรานอนหงายเวลาที่เราตกน้ำได้

ข้อสอง เราควรที่จะดูว่าเสื้อชูชีพตัวนั้นรับน้ำหนักได้เท่าไหร่ เวลาที่เราเลือกซื้อเราควรจะเผื่อน้ำหนักของเราขึ้นอย่างน้อย 3-5 กิโลนะครับ เพราะเราต้องเผื่อน้ำหนักของเสื้อผ้าของเราเวลาที่เปียกน้ำเอาไว้ด้วย ถ้าเราไม่ได้เผื่อไว้ แล้วน้ำหนักรวมของเราพอดีกับเสื้อชูชีพนั้นๆหรือ น้ำหนักมากกว่าที่เสื้อชูชีพตัวนั้นจะรับไหว ผลที่จะตามมาก็คือ เสื้อตัวนั้นอาจจะพยุงตัวเราในน้ำได้ระยะเวลาสั้นลง

 

ทิปสำหรับเสื้อชูชีพ

เราไม่ควรใช้เสื้อชูชีพที่เก่ามากจนเกินไป เพราะเราไม่รู้ว่าโฟมด้านในเสื่อมสภาพไปขนาดใหนแล้ว

อย่าวางของหนักทับเสื้อชูชีพ เพราะด้านในของเสื้อชูชีพเป็นแผ่นโฟม ถ้าแผ่นโฟมแตกจะทำให้อัตราการลอย และ การพยุงตัวเสียไป

อย่าเอาเสื้อชูชีพไปแขวนไว้ข้างเรือแทนทุ่นกันกระแทก

ควรเช็คสภาพของชูชีพที่เราจะใช้ก่อนที่จะลงเรือ ว่าเสื้อชูชีพของเรายังอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานรึเปล่า

หลังจากที่ใช้เสื้อชูชีพในทะเลแล้ว เมื่อกลับขึ้นฝั่งควรที่จะซักเสื้อชูชีพด้วยน้ำเปล่า

เสื้อชูชีพสามารถนำมาซักได้ แต่ควรที่จะตากให้แห้งก่อนที่จัดเก็บ เพราะเชื้อราอาจจะขึ้นได้ หรือ มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้

เวลาที่ใช้เสร็จควรที่จะนำไปผึ่งแดด หรือ ผึ่งลมให้แห้งก่อนที่จะเก็บ เพราะไม่งั้นเชื้อราอาจจะขึ้นได้ และ ถ้าเชื้อราขึ้นจะทำความสะอาดไม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

Comments

About the author:

Avatar photo

. Follow him on Twitter / Facebook.