เรือไทย

ชื่อเวปของเราชื่อ ไทยโบ๊ทคลับ หรือ สมาคมเรือไทย แต่ไม่เคยเอาเรื่องเกี่ยวกับเรือไทย มาลงให้อ่านกันเลย เรือของไทยเราจริงๆแล้วมีมากมายหลายประเภท บางประเภทก็แทบจะไม่เห็นในลำน้ำแล้ว บางประเทศก็หายสาบสูญไปตามกาลเวลา ส่วนตัวผมเองเมื่อก่อนสนใจแต่เรือต่างประเทศ เรือเร็ว เรือใบ เจ็ทสกี ซึ่งล้วนก็เป็นเรือของต่างประเทศ จนมาวันนึงนั่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรือไทยของเราทำให้เริ่มหลงใหลในเสน่ห์ของเรือไทยขึ้นมา ไปเที่ยวทะเลเห็นเรือกอและที่ชาวประมงเอาออกไปหาปลาเลี้ยงครอบครัว ทั้งรูปร่าง ลวดลาย และ สีสรรที่ช่างต่อเรือบรรจงวาดไว้ต้องบอกว่ามันเป็นมากกว่าเรือแต่เป็นงานศิลปะที่สามารถใช้หาเลี้ยงครอบครัวได้ จากนั้นผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวตลาดน้ำลำพญาเห็นเรือรูปร่างแปลกตาอยู่หลังตลาด แต่ไม่รู้ว่าคือเรืออะไร พอกลับถึงบ้านนั่งหาข้อมูลถึงได้รู้ว่าเป็นเรืออีโปงเป็นเรือที่ทำจากต้นตาลหน้าตาเหมือนกับช้อนซุปเลย ยิ่งนั่งอ่าน ยิ่งหาข้อมูล ก็ยิ่งทำให้หลงใหลกับเสน่ห์ของเรือไทยมากขึ้น และ ก็มากขึ้นทุกวัน วันนี้พอจะมีเวลาผมเลยเอาเรื่องราวเกี่ยวกับเรือไทยแบบต่างๆมาให้ศึกษากันเพื่อเป็นความรู้นะครับ

เรือกระแชง

เป็นชื่อเรือต่อชนิดหนึ่ง ทำจากไม้สักมีลักษณะคล้ายเรือเอี้ยมจุ๊น ท้องเรือโค้งกลม ทวนหัวและทวนท้ายเรือกระแชงเป็นทวนแบบเรียบ จึงมีส่วนทำให้แผ่นไม้เปลือกเรือส่วนที่เป็นหัวและหางเรือโค้งมน เรือแบบนี้มีแผ่นกระทงเหิร หรือเรียกว่าแอกวางพาดขวางบนพื้นตรงหัวและท้ายเรือ เรือกระแชงมีหลายขนาด เคลื่อนที่ได้โดยการใช้ถ่อหรือแจว แต่เมื่อมีเรือยนต์ลากจูงก็นิยมผูกเรือกระแชงต่อกันยาวเป็นขบวนและใช้เรือยนต์ลากจูง ที่เรียกว่าเรือกระแชงนั้นเพราะแต่เดิมใช้กระแชงซึ่งก็คือใบเตยหรือใบจาก นำมาเย็บเป็นแผงทำเป็นประทุนบังแดดฝน แต่ในสมัยต่อมาใช้สังกะสีแทน เรือกระแชงใช้บรรทุกข้าวเปลือก
ข้าวสาร หิน ทราย ไม้ฟืน ฯลฯ ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นเรือกระแชงได้ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในภาคกลางของ ประเทศไทย โดยเฉพาะที่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำป่าสัก

เรือกระแซง

เรือเข็ม หรือเรือโอ่

เป็นเรือต่อยาวราว 3 – 4 วา นิยมต่อด้วยไม้บาง โดยใช้ไม้จำพวกไม้มะยมหอม ไม้สัก ลักษณะของเรือชนิดนี้คือ หัวและท้ายเรือเรียวเชิด กราบเรือสูงพ้นน้ำเพียงเล็กน้อย มีพนักพิงกลางเรือ นั่งพายเพียงคนเดียว โดยเหยียดขาไปข้างหน้า ใช้พาย 2 ใบ เรือแบบนี้สามารถพายได้เร็ว ใช้สำหรับไปธุระ ไปเที่ยว บางโอกาสใช้สำหรับพายแข่งขัน การพายเรือเข็มหรือเรือโอ่คงจะเป็นสิ่งที่น่าชม กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. 2472 เมื่อเจ้าชายเฮนรี่ แห่งปรัสเซีย เสด็จเยือนกรุงเทพฯ ทางราชการได้จัดรายการที่น่าสนใจถวายเพื่อทอดพระเนตร คือ วัดสำคัญๆ สถานที่ราชการ กีฬาไทย ดนตรีไทย รวมทั้งการพายเรือโอ่ด้วย

เรือเข็ม หรือ เรือโอ่

เรือชะล่าหรือชล่า

เป็นเรือขุดชนิดหนึ่งที่ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ทำให้เป็นรูปเรือโดยไม่ต้องเบิกปากเรือให้กว้าง ท้องเรือแบน ความกว้างของเรือเท่ากันเกือบตลอดลำ ลักษณะของหัวและหางเรือแบนโตและนิยมตัดตรง โดยปกติเรือชะล่าจะขุดจากซุงไม้สัก อย่างไรก็ตาม ยังมีเรือชะล่าอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าเรือชะล่าผ่า เป็นเรือที่หาซุงไม้สักต้นใหม่มาขุดไม่ได้ จึงใช้ไม้ท่อนเล็กฟันเป็นแผ่นแบน รวม 3 แผ่น แล้วประกอบเป็นเรือ การทำให้เรือชะล่าเคลื่อนที่ไปได้นั้น โดยปกตินิยมใช้ถ่อ เขตที่นิยมใช้เรือชะล่ากันมากนั้น คือลำน้ำปิงตั้งแต่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป แต่ก็มีใช้กันอยู่บ้างประปรายในพื้นที่ตอนล่างลงมา เช่น จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี และ จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น

เรือชล่า

เรือบด เป็นชื่อเรือต่อขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มี 2 แบบคือ
แบบเรียว หัวท้ายเรียว มีแผ่นไม้ตัดเป็นรูปโค้งปีกกาปิดส่วนหนึ่งของด้านบนหัวและท้ายเรือ ทำให้เคลื่อนที่ได้โดยใช้พาย บางครั้งใช้พาย 2 ใบ เพราะเรือขนาดเล็ก หัวและท้ายเรือเหมือนกัน สามารถกลับหัวเป็นท้ายเรือได้ทันที ต่อขึ้นจากไม้สักหรือไม้อื่นๆ คงมีกำเนิดจากรูปแบบเรือบดของตะวันตก ที่เรียกว่า เรือคะยัก ใช้เป็นเรือฉุกเฉินติดมากับเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ เรือบดแบบไทยนี้นิยมใช้ประจำบ้านเพื่อการเดินทางไปมาในลำน้ำที่ไม่ไหลเชี่ยว และมีระยะทางไม่ไกลมากนัก หรือใช้สำหรับข้ามฟาก ลำคลอง พื้นที่พบเห็นมากคือในแถบภาคกลางของประเทศไทยเกือบทุกจังหวัด

เรือบดแบบเรียว

แบบหัวเรือเรียวท้ายตัดอย่างเรือทหาร เรือแบบนี้เป็นเรือแบบตะวันตก บางครั้งเรียกว่าเรือกรรเชียง เพราะใช้กรรเชียงแทนพาย ต่อขึ้นจากไม้หรือเหล็ก ใช้ประโยชน์ในการโดยสารหรือกรรเชียงเพื่อความเพลิดเพลิน (เช่น ตกปลา ชมวิว ออกกำลังกาย) เรือแบบนี้พบเห็นไม่มากนัก

เรือบดหัวเรือเรียวท้ายตัด

เรือผีหลอก

จะเป็นเรือต่อหรือขุดก็ได้ มีลักษณะท้องเรือค่อนข้างแบนและเมื่อลอยอยู่ในน้ำ กราบเรือจะสูงจากระดับน้ำไม่มากนัก กราบเรือด้านหนึ่งติดแผ่นกระดานทาสีขาวและวางให้เอียงลาดลงน้ำ อีกด้านหนึ่งของกราบเรือนั้นขึงตาข่ายเป็นแนวยาวตลอดลำเรือ ให้ขอบบนสูงจากกราบเรือประมาณ 1 เมตร ใช้เป็นเรือประมงน้ำจืดตามแม่น้ำลำคลอง วิธีใช้เรือชนิดนี้หาปลาคือ พายเรือออกในเวลากลางคืน เมื่อปลาเห็นแผ่นกระดานสีขาวท่ามกลางความมืด ปลาจะตกใจกระโดดข้ามแต่ก็ไม่พ้นเพราะถูกตาข่ายกั้นไว้ ปลาจะตกลงไปในท้องเรือ นับเป็นวิธีหาปลาง่ายๆ วิธีหนึ่ง และที่เรียกว่าเรือผีหลอกนั้น เป็นเพราะส่วนหนึ่งของเรือทาสีขาวโพลน เมื่อแล่นในเวลากลางคืนสามารถหลอกปลาให้ตกใจกระโดดลงไปในเรือได้ พื้นที่ที่ยังเห็นชาวประมงน้ำจืดใช้เรือผีหลอกหาปลานั้นคือที่อำเภอบ้านหมี่-ลพบุรี, อำเภอตาคลี-นครสวรรค์

เรือผีหลอก

เรือมาด

เป็นเรือขุดไม่เสริมกราบ หัวเรือแบน กว้าง มีหลายขนาด ขนาดใหญ่ใช้บรรทุกข้าวเปลือก ไม้ฟืน หิน โดยใช้แจวให้เคลื่อนที่ ขนาดเล็กใช้บรรทุกของที่มีน้ำหนักน้อยกว่า หาปลา ล้อมอวน หรือเรือมาดที่มีรูปร่างเพรียว ใช้สำหรับแข่ง เรือมาดขนาดเล็กนี้ใช้ถ่อไปตามทุ่งหรือใช้พาย นิยมขุดจากไม้ตะเคียนหรือไม้สัก และคงเป็นรูปแบบเรือประจำถิ่นอันเก่าแก่ของภาคกลางในประเทศไทย ปัจจุบันยังพบเห็นได้ทั่วไป

เรือมาด

เรือหมู

เป็นเรือขุดชนิดหนึ่ง ขุดจากซุงไม้ขนาดเล็ก ประเภทไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้สัก หัวและหางเรือถากเล็กและเหลาให้แบนยื่นแหลมชี้ขึ้น ความได้สัดส่วนของหัวและหางเรือหมูใช้เป็นเครื่องวัดความสวยงามของเรือ เคลื่อนที่ได้โดยใช้พายหรือถ่อ ใช้เป็นเรือโดยสารไปมาสำหรับระยะทางใกล้ๆ หรือหาปลา คงเป็นรูปแบบเรือประจำถิ่นอันเก่าแก่ที่มีขนาดเล็กของภาคกลาง เดิมสามารถพบเห็นทั่วไป แต่ในปัจจุบันชาวบ้านใช้เรือบดหรือเรือสำปั้นแทน

เรือหมู

เรืออีโปงหรือเรือหลุมโปง

เป็นเรือขุดชนิดหนึ่งหัวมนแหลม ท้ายตัด ทำจากไม้ต้นตาล โดยนำโคนต้นตาลมาผ่าออกเป็นสองซีก ใช้แกลบสุมใส้จนเหลือแต่เปลือกนอก แล้วเลื่อยกระดานปิดตรงท้าย ยาด้วยชัน ที่ใดที่พบว่ามีต้นตาลขึ้นอยู่มาก ที่นั่นจะพบว่ามีการนำต้นตาลมาทำเป็นเรืออีโปงใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางของประเทศไทย เรืออีโปงเคลื่อนที่ได้โดยใช้พาย และใช้เป็นเรือที่โดยสารไปมาในละแวกใกล้ๆ ไม่สามารถบรรทุกสิ่งของหนักๆ จำนวนมากได้ ใช้ในบริเวณน้ำตื้น หรือระยะทางไม่ไกลนัก เรือชนิดนี้ทำขึ้นใช้เองได้ เทคนิคการทำก็ไม่ยุ่งยาก วัสดุที่ใช้ก็หาได้ง่าย จัดเป็นเรือพื้นบ้านประเภทไม่ถาวร

เรืออีโปง

 

เรือเอี้ยมจุ๊น

เป็นเรือต่อด้วยไม้รูปร่างอ้วนใหญ่ นิยมใช้ไม้เคี่ยม โดยทั่วไปลักษณะคล้ายเรือกระแชงแต่ต่างกันตรงทวนหัวและท้ายของเรือเอี้ยมจุ๊น มีลักษณะเป็นสันที่เรียกว่าทวนตั้ง ท้ายเรือมีประทุนสำหรับเป็นที่พักและที่นั่งของผู้ถือหางเสือเรือ เคลื่อนที่ได้โดยใช้เรือยนต์ลากจูง ใช้ถ่อหรือแจว เรือเอี้ยมจุ๊นนั้นรูปร่างอ้วนใหญ่เพราะต้องการใช้บรรทุก ตัวเรือต่ออย่างแข็งแรง เรือนี้ในภาษาจีนแปลว่าเรือเกลือ อันเป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่ง จึงต้องต่อเรือไว้สำหรับบรรทุก แต่ต่อมาในระยะหลังๆ มีสินค้าสำคัญหลายอย่างที่ส่งไปขาย ก็ใช้เรือเอี้ยมจุ๊นบรรทุกสินค้าทั่วๆ ไปเพื่อเอาไปส่งยังเรือใหญ่ที่จอดอยู่ในท่าเรือ ในเวลานี้ยังสามารถพบเรือเอี้ยมจุ๊นใช้งานอย่างกว้างขวางบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง เพื่อขนถ่ายสินค้าจำพวก ข้าวสาร เกลือ แป้งมันสำปะหลัง สู่เรือทะเล

เรือเอี้ยมจุ๊น

เรือเมล์

ในสมัยก่อนเรือลากจูงเป็นเรือกลไฟที่ใช้ฟืน ใช้ลากจูงเรือเอี้ยมจุ๊นที่บรรทุกสินค้าต่างๆ
ได้คราวละหลายลำครั้นต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ และยังใช้เป็นเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา จากกรุงเทพฯ ถึงกรุงเก่า และเส้นทางไกลอื่น ๆ ในปัจจุบันอีกด้วย

เรือเมล์

เรือหางยาว

เป็นเรือต่อ ท้องแบนหรือรูปตัววี เพรียวและยาวมีขนาดต่างๆ มีน้ำหนักเบาเพราะใช้ไม้อัดเป็นวัสดุประกอบเป็นแผ่นเปลือกเรือ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ติดอยู่ที่ท้ายเรือที่มีเพลายาว และส่วนปลายเพลาติดใบพัด โดยทั่วไปสามารถนำเรือเกือบทุกชนิดเช่น เรือสำปั้น เรือมาดมาติดเครื่องยนต์ เพลาและใบพัดแบบดังกล่าว ทำให้ขับเคลื่อนได้ เรือหางยาวมีประโยชน์ใช้สอยนานัปการ นอกจากเพื่อการเดินทางแล้ว ยังใช้เป็นเรือโดยสาร เรือบรรทุกผลิตผลการเกษตร และปัจจุบันเป็นเรือที่นักท่องเที่ยวนิยมเช่าแล่นชมทิวทัศน์ตามแม่น้ำลำคลองของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวทางน้ำไปในที่สุด

เรือหางยาว

 

 

Comments

About the author:

Avatar photo

. Follow him on Twitter / Facebook.