เรือพระที่นั่ง

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

 

 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เคยมีกล่าวถึงครั้งแรก ในชื่อว่า เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่แกะสลักโขนเรือเป็นรูปหงส์ สำหรับลำปัจจุบันนี้สร้าง ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นแทนลำเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช แต่ความจริงแล้วเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ดังทราบได้จากบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯที่ว่า

” สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมิน ลินลาสเลื่อนเตือนตาชม “

     สำหรับเรือพระที่นั่ง สุพรรณหงส์ลำปัจจุบันนี้สร้างขึ้น ในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อทดแทนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำเดิม ที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งได้ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นเรือพื้นดำ น้ำหนัก ๑๕.๖ ตัน กว้าง ๓.๑๕ เมตร ยาว ๔๔.๗๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๑ เมตร ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๒ นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะพายท่านกบินและถือเป็นธรรมเนียมว่า ถ้าจะเปลี่ยนท่าพายเป็นพายท่าธรรมดาหรือพายกระเดียด จะต้องรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อนจึงเปลี่ยนท่าพายได้

เครื่องประกอบของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พู่ห้อย ที่หัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ทำด้วยขนของสัตว์ชื่อ จามรี (ลักษณะเหมือนม้าอยู่ในป่า) ลักษณะขนสีขาว นุ่มละเอียด นำมาประกอบทำเป็นชั้นๆ ตามทรงของพุ่มท่เป็นแบบอยู่ข้างใน แล้วจึงติดชนวนโดยรอบและตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งนำมาจากเนปาล

บัลลังก์กัญญา เรือพระที่นั่งจะทอดบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับกลางลำ ตกแต่งด้วยม่าน

สำหรับการแต่งกายของฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จะสวมเสื้อสักหลาดสีแดงติดลูกไม้ใบข้าว กางเกงผ้าเสิร์จสีดำ คาดผ้ารัดประคดโหมดเทศดาบฝักไม้ ด้ามไม้กลึง สาย สะพายดาบสักหลาดสีแดงติดแถบลูกไม้ สวมหมวกทรงประพาสสักหลาดแดงติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ

นอกจากความงดงามในด้านศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบกับเป็นเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย แล้ว ยังมีความสำคัญในการเป็นมรดกของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลอย่างยิ่งลำหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นมีอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยโบราณ ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นงานศิลปกรรมที่รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ จึงได้ให้การทะนุบำรุงรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดี จนสามารถนำมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการ พระราชพิธีต่าง ๆ มาจนปัจจุบันนี้ อันถือได้ว่าเป็นการสืบต่อความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการต่อเรือ การเดินเรือ และการค้าขายทางทะเลในภูมิภาค เอเชียตะวันออกไกลซึ่งกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

และด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจาณามอบ รางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ต่อมาในวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ (ค.ศ.๑๙๙๒) คณะกรรมการองค์การ WORLD SHIP TRUST ซึ่ง ประกอบด้วยนายอีเวน เซาท์บี-เทลยัวร์ (MR. EWEN SOUTHBY – TAILYOUR) ประธานองค์การเรือโลก นายไมเคิล ไทยแนน (MR. MICHAEL TYNAN) นักกฏหมายประจำองค์การ ฯ และนายเจมส์ ฟอร์โซธ์ (MR. JAMES FORSYTHE) ได้เดินทางมายังราชอาณาจักรไทยและได้เข้าเฝ้าพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้า ฯ ถวายเหรียญรางวังเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือเหรียญรางวังมาดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ( THE WORLD SHIP TRUST MARITIAGE AWARD ” SUPHANNAHONG ROYAL BRAGE “) จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากรครั้งนั้น คือนายสุวิชญ์ รัศมีภูติ ซึ่งเป็นกรมที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธีในคลองบางกอกน้อย

องค์การเรือโลกWORLD SHIP TRUST แห่งสหราชอาณาจักรเป็นองค์การที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๗๙ (พ.ศ.๒๕๒๒) มี ดยุก แห่งเอดินเบอระ (DUKE OF EDINBURGH) เป็นองค์อุปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม การศึกษาและความรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือ การต่อเรือ ส่งเสริมทะนุบำรุงรักษาเรือสมัยโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งต่อโลกและมนุษยชาติ เพื่อให้เป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สาธารณชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสได้ชื่นชมต่อไป รวมทั้งดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ เรือต่าง ๆ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการทะนุบำรุงเรือนั้น ๆ

องค์การเรือโลก ได้เคยมอบรางวัลแก่ องค์กร บุคคลและเรือต่าง ๆ แล้ว ๑๒ เหรียญ ที่สำคัญมีเรือวาซา (VASA) ของสวีเดน เรือแมรี่โรส (MARY ROSE) ของอังกฤษ เรือจิลแลนด์ (JYLLAND) ของเดนมาร์ก เรือยู เอส เอส คอนสติติวชั่น (USS CONSTITUTION) ของสหรัฐอเมริกาและในปี เดียวกับที่มอบเหรียญรางวัลให้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ก็ได้มอบรางวัลให้กับเรือมิกาซา (MIKASA) แห่งประเทศญี่ปุ่นด้วย

สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ นอกจากจะได้รับเหรียญรางวัลแล้ว ยังได้รับสาสน์แสดงความยินดีจาก เจ้าชายฟิลิป ดยุก แห่ง เอดินเบอระ อีกด้วย

 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

 

     เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปพญานาค ๗ เศียรนั้น สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สร้างขึ้นใน สมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งครุฑของเดิมก็มีอยู่แล้ว แต่พระที่นั่งนาคยังหามีไม่ จึงโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เอามาดเส้น ๔ ศอก ( มาดเส้น มาจากคำว่า “ มาดเหลา” ซึ่งหมายถึงเรือไม้ขุด ทั้งลำเรือ เกลาแต่ผิวให้เรียบ เรือที่มีขนาดใหญ่ที่ยาวเกิน ๑ เส้น หรือ ๔๐ เมตร ขึ้นไปเรียกว่ามาดเหลาเส้น เป็นการเรียกขนาดเรือไปด้วย ) ทำเป็นเรือพระที่นั่งนาค ๗ เศียร ชื่อว่า เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งลำทรง ซึ่งจะตั้งบุษบก ผูกม่านทำด้วย ผ้าตาดมีนักสราชประจำทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่หัวเรือ ตั้งปืนจ่ารงคร่ำเงิน หน้าบุษบกจะตั้งเครื่องสูง ด้านหน้ามีฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๓ องค์ ด้านหลังบุษบกเป็นฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ๕ ชั้น ๒ องค์ และมีพระกลด พัดโบก บังพระสูรย์ บังแทรก( บังดั้น ) ด้านหน้าพระแท่นมีอาวุธผูกติด คือปืนนกสับ พระแสงง้าวนากถมเงิน ด้านท้ายพระแท่นมีทวน ๑ คู่ ขุนนางที่อยู่ประจำเรือ มีจมื่นมหาดเล็กข้างละ ๒ ท่าน สำหรับเชิญพระแสงตีนตอง มีจางวางปลัดทูลฉลองและหุ้มแพรอยู่หน้าพระที่ พวกพลเลวอยู่ท้าย ๒ คน พลพายใช้พายทองและฝีพายจะพายท่านกบิน เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่ง สุพรรณหงส์

สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๗ แทนลำเดิมที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นเรือพื้นเขียว น้ำหนัก ๑๕.๓๖ ตัน กว้าง ๒.๙๕ เมตร ยาว ๔๒.๙๕ เมตร ลึก ๐.๗๖ เมตร กินน้ำลึก ๐.๓๑ เมตร ฝีพาย ๕๔ นาย นายท้าย ๒ นาย มีการซ่อมทำใหม่ พ.ศ.๒๕๑๒ อาจทำให้น้ำหนักเปลี่ยนไป

พ.ศ.๒๕๑๐ ซ่อมแซมเพื่อใช้ชั่วคราวให้ทันใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยมี บริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาการซ่อม ทำชั่วคราว ให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

พ.ศ. ๒๕๑๒ ซ่อมใหญ่ โดยซ่อมทำตัวเรือใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ต่อจากนั้น ได้ทำการซ่อมลวดลายเรือและเครื่องตกแต่งประกอบเรือตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ จนถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕

พ.ศ. ๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่ และอื่น ๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชกรุง รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ เริ่มซ่อมทำตั้งแต่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕ โดยมีบริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาซ่อมทำ

 

 

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

 

     เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ มีนายเรือ ๒ นาย นายท้าย ๒ นาย ฝีพาย ๖๑ นาย ใช้พายทองพายท่านกบินเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่ง ไม่มีนักสราชเชิญธง เพราะถือเป็นธรรมเนียมว่า เรือพระที่นั่งศรีถ้าทอดบังลังก์กัญญา ไม่มีธงท้าย เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชกาล ที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรือพระที่นั่งสีพื้นชมพู น้ำหนัก ๗.๗ ตัน กว้าง ๓.๑๕ เมตร ยาว ๔๕.๔๐ เมตร ลึก ๑.๑๑ เมตร กินน้ำลึก ๑.๔๖ เมตร กำลัง ๓.๕ เมตร ซ่อมใหญ่ พ.ศ.๒๕๑๗ น้ำหนักอาจเปลี่ยนแปลงได้

โดยปกติเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่นั้น จะทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ และทรงพระมหา มงกุฏ หรือพระชฎามหากฐินทรงพระมาลาเส้าสูง เรือที่ใช้ทรงเปลื้องเครื่องนี้เรียกว่า เรือพลับพลา เรือนี้จะเข้าเทียบท่าก่อน แล้วเรือพระที่นั่งลำทรง เทียบด้านนอกเรือพลับพลา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พลับพลาเปลื้องพระมหามงกุฏ หรือพระชฎามหากฐินแล้ว จึงเสด็จขึ้น ตอนเสด็จลง ก็เช่นกัน เสด็จลงเรือพลับพลาทรงพระมหามงกุฏหรือพระชฎามหากฐินก่อน จึงเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ในเวลาเสด็จกลับเรือพลับพลาแล่นหลังเรือพระที่นั่ง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เป็นเรือพระที่นั่งสำหรับทรง เปลื้องเครื่อง เพราะมีการตั้งบัลลังก์บุษบก อัญเชิญพระชฎามหากฐิน นำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรง ตั้งเครื่องสูงด้านหน้าฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๒ องค์ ด้านหลังบุษบกตั้งฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๒ องค์ ม่านบุษบกเป็นผ้าตาด มีตำรวจประจำเรือ ๖ นาย นักสราชนั่งเชิญธง ด้านหน้าและ ด้านหลัง ด้านละ ๑ นาย

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี ในลำดับชั้นรอง ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินลำลอง ภายหลังนำเข้ากระบวนพยุหยาตราชลมารค เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง นับเป็นเรือพระที่นั่งลำเดียวที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕

โขนเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็ก ๆ จำนวนมาก ลำเรือภายนอกทางสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว ๔๕.๕๐ เมตร กว้าง ๓.๑๕ เมตร ลึก ๑.๑๑ เมตร กินน้ำลึก .๔๖ เมตร กำลัง ๓.๕๐ เมตร ใช้ฝีพาย ๖๑ คน นายท้าย ๒ คน นายเรือ ๒ คน คน ถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน คนเห่ ๑ คน

ในรัชกาลปัจจุบัน เนื่องจากเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย ชำรุดไม่สามารถซ่อมแซมได้ ดังนั้นเรือพระที่นั่งสำหรับทรงเปลื้อง เครื่อง จึงใช้เรือพระที่นั่งศรีแทนเรือพระที่นั่งกิ่ง คือใช้เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ แทน โดยการทอดบังลังก์กัญญา มีม่านกั้น

 

 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

 

 

     เรือนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ประเภทเรือรูปสัตว์ กล่าวคือ เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือ เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในเทพ นิยาย เรือรูปสัตว์ปรากฏขึ้นในรัชกาลสมเด็จ พระมหาจักรพรรดิ พระองค์ทรงแก้เรือแซเป็นเรือไชยและเรือรูปสัตว์ต่างๆ เพื่อจะให้ตั้งปืนใหญ่ที่หัว เรือได้ เรือรูปสัตว์มาจากตราประตำแหน่งของเสนาบดี เช่น ราชสีห์ คชสีห์ นาค ฯลฯ นอกจากนี้ เรือพระที่นั่งก็มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ตามพระราชลัญจกร เช่น เรือครุฑอย่างพระราชลัญจกร“พระครุฑพ่าห์” หัวเรือแต่เดิมทำเป็นรูปครุฑเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์หมายถึงเรือพระที่นั่งแห่งพระมหากษัตริย์ ผู้อยู่ในฐานะสมมุติเทพนั่นเองความเป็นมาของเรือนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น มีชื่อเดิมว่า “ มงคลสุบรรณ ” พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา เจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรง พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ตามที่ปรากฏ ความในพระราชพงศาวดารว่า “ ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน ”

ลักษณะของเรือลำนี้มีความยาว ๑๗ วา ๓ ศอก กว้าง ๕ ศอก ๕ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๖ นิ้ว กำลัง ๖ ศอก ๖ นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกทาสีแดง กำลังฝีพาย ๖๕ คน โขนเรือแต่เดิมจำหลักไม้รูปพญาสุบรรณหรือพญาครุฑยุดนาคเท่านั้นมีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ สมเด็จพระมหา สมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับเรือมงคลสุบรรณใน กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้ว่า

“ เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณมีปืนจ่ารงที่หัวเรือตรงช่วงเท้าของรูปครุฑ มีฝรั่งกำกับเป็น ๓ นาย คือ พระยาพิเศษสงคราม หลวงชนะทุกทิศ และหลวงฤทธิราวี มีจมื่นสรรเพชรภักดี และ จมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราช และจมื่นไวยวรนารถ อยู่ประจำหน้าพระที่นั่ง ที่บัลลังก์นี้มีเครื่อง ราชูปโภคทอดไว้ เช่น พระล่วมมณฑป พระแสงดาบต้น กระดานชนวน หม้อลงพระบังคน ธารพระกร พระสุพรรณราช และพระสุพรรณศรี ทั้งยังมี วิชนี เครื่องสุธารสชา ชุดกล้องเข้าใจว่าเป็นกล้องยาสูบ เชิงเทียน พระเต้าน้ำ และพระสุพรรณภาชน์สองชั้น ส่วนนอกบัลลังก์ด้านหน้าผูกพระแสงปืน คาบศิลาขนาดยาวสิบคืบประดับลวดลายคร่ำทอง เป็นปืนที่ใช้ลูกปืนขนาดหกบาท พนักงานประจำปืนชื่อพระยาอภัยศรเพลิง หลวงเสน่ห์ศรวิชิตและ หลวงสนิทอาวุธ มีเจ้ากรมพระศุภรัตชื่อหลวงสุนทรภิรมย์ และจางวางพิชัยพลระดม ที่ท้ายที่นั่งนอกม่านมีมหาดเล็ก ๒ คน มีเวรพนักงานพระภูษามาลา เชิญพระกลด ๒ คน และมีแพทย์หลวงอีก ๒ คน คือ หมอยาทิพจักรและหมอนวดราชรักษา ”

จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับ ยืนบนหลังพญาสุบรรณเพื่อความเป็นสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในเทพปกรณัมของศาสนาพราหมณ์ว่าพญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะ ของพระนารายณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกองค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตา ภรณ์และมงกุฏยอดชัยพระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ ( สีน้ำเงินเข้ม) มี ๔ พระกร ทรงเทพศาสตราในพระกรทั้ง ๔ คือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามลักษณะในเทพปกรณัมของพราหมณ์ ซึ่งปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ใน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรี บรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ตอนกุมภกรรณต้องศรพระรามสิ้นชีวิต

“ แลเห็นพระองค์ทรงลักษณ์ ผ่องพระพักตร์จำรัสรัศมี
สีเขียวดั่งนิลมณี มีกายปรากฏเป็นสี่กร
ทรงเทพอาวุธจักร สังข์ ทั้งตรี คทา ศิลป์ศร
จึงรู้ว่านารายณ์ฤทธิรอน จากเกษียรสาครเสด็จมา”

     และเมื่อเสริมรูปพระนารายณ์แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามเรือลำนี้ใหม่ว่า “ นารายณ์ทรงสุบรรณ ”

จากหลักฐานประเภทบันทึกการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานการนำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณหรือนารายณ์ ทรงสุบรรณลำนี้เข้าร่วมในกระบวน พยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือ กระบวนพยุหยาตราทาง ชลมารคในการเสด็จเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งในขณะนั้นเรือลำนี้ยังไม่มีการเสริมรูป พระนารายณ์ ทั้งยังคงมีชื่อมงคลสุบรรณ และอีกครั้งหนึ่ง ในการจัดกระบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฏราชกุมารเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ส่วนเครื่องแต่งกายของเจ้าพนักงานและฝีพายประจำเรือนั้นมีปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ตอนที่ว่าด้วยการ เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค ใน พ.ศ.๒๓๙๔ ดังนี้

“ เรือมงคลสุบรรณ เรือศรีสุพรรณหงส์ นักสราชถือธงหักทองขวางหน้าเรือท้ายเรือ มีกลองชนะทำด้วยเงินลำละ ๕ คน เจ้าพนักงานเป็นนายกำกับลำ นุ่งปูมสวมเสื้อเข้มขาบโพกขลิบทอง ฝีพาย ลำละ ๖๕ คน ฝีพายใส่เสื้อสักหลาดขลิบโหมด หมวกกลีบลำดวน กางเกงมีกรวยเชิงใช้พายทอง ”

Comments

About the author:

Avatar photo

. Follow him on Twitter / Facebook.