การทำเรือเก่า (เพื่อให้ใช้งานได้)

การทำเรือเก่า (ให้กลับมาใช้งานได้) 

เราพูดถึงเรือเก่ากันมาหลายครั้งแล้วแต่ในแง่มุมของการซื้อการขาย วันนี้เรามาพูดถึงการทำเรือเก่าเพื่อเอามาใช้งานกันบ้างดีกว่า สำหรับเรือเก่า เหมือนที่ผมเคยพูดอยู่หลายครั้งว่ามีทั้งแบบสภาพนางฟ้าที่เอามาทำแค่นิดหน่อยก็ใช้งานได้แล้ว

ไปจนถึงเรือที่ปลดระวางมาแล้วสภาพเรียกว่าปลุกกันแทบจะไม่ขึ้นแล้ว แต่ถ้าเราไปซื้อมาแล้วจะทำยังไงดีล่ะ แล้วจะต้องทำอะไรบ้าง

เราพูดถึงเรือสภาพนางฟ้ากันก่อนแล้วกันนะครับ เพราะจะสั้นกว่าเยอะ สำหรับเรือสภาพนางฟ้าต้องบอกว่าบางลำเอามาไม่ต้องทำอะไรเลย ยิ่งถ้าซื้อจากคนขายที่มีจรรยาบรรณที่ดี เค้าทำมาให้ทุกอย่างแล้ว แถมถ้าซื้อไปแล้วถ้ามีอะไรเค้ายังรับผิดชอบให้อีกด้วย เรียกว่ายอมจ่ายแพงขึ้นอีกนิดเดียวประมาณว่าเจ็บแต่จบ แต่ถึงแม้ว่าเราจะได้เรือในสภาพนางฟ้ามาแต่ก่อนที่จะใช้งานจริงก็ควรที่จะต้องเช็คสภาพเรือ และ เครื่องยนต์ให้ดีอยู่ดีนะครับว่าทั้งตัวเรือ และ เครื่องยนต์ไม่มีปัญหา สำหรับเครื่องยนต์ถ้าเป็นไปได้ควรที่จะเปลี่ยนใบพัดปั๊มน้ำ และ ของเหลวของเครื่องยนต์ รวมถึงตรวจสอบบู๊ธใบจักรด้วยว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีรึเปล่า ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ควรที่จะเปลี่ยนให้หมด เรียกว่าทำให้จบซะทีเดียวกันไว้ดีกว่าแก้ยกเว้นเรามั่นใจว่าอู่ที่เราไปซื้อมาเค้าทำมาให้หมดแล้วจริงๆ ซึ่งหลายๆอู่ที่มีจรรยาบรรณที่ดีเค้าทำให้ลูกค้าของเค้าอยู่แล้วนะครับ

จริงๆที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้คือเมื่อเราไปซื้อเรือเก่ามาจะต้องทำอะไรบ้าง แต่ใหนๆจะพูดเรื่องนี้ ขอพูดถึงเรื่องตั้งแต่ก่อนซื้อด้วยเลยแล้วกันนะครับ

สำหรับตัวเรือ

สิ่งแรกที่ควรจะดูก่อนที่จะซื้อเรือ คือ ท้องเรือ ว่าท้องเรืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานรึเปล่า มีรอยร้าว หรือ มีรอยซ่อมมารึเปล่า สีมีการทำใหม่มารึเปล่า ถ้าไม่มีรอยร้าว หรือ รอยซ่อม และ สีของท้องเรือยังดูเป็นสีเดิมๆ ถือว่าผ่านในขั้นต้น แต่ถ้าที่ท้องเรือมีรอยซ่อมมา อันนี้ต้องดูกันอย่างละเอียดเลยว่า ซ่อมอะไรมา ซ่อมจากรอยถลอกให้กลับมาสวยงามเหมือนเดิม หรือ ซ่อมเพราะแตกจากการชน หรือ การขนส่ง แต่โดยพื้นฐานแล้ว ต้องขอบอกเลยว่าถ้าไปดูเรือแล้วเห็นท้องเรือมีรอยซ่อม หรือ ทำสีใหม่มาแล้ว สำหรับผม ผมมองผ่านเรือลำนั้นเลยครับ เพราะได้ไม่คุ้มเสียแน่ๆ เมื่อไม่นานมานี้ผมเห็นเรือลำนึง เป็นเรือของหน่วยงานราชการ ท้องเรือทะลุ พอไปดูกันใกล้ๆถึงกับอึ้งกันเลย เพราะที่ท้องเรือตรงที่ทะลุ ไม่มีใยสานเลยแม้แต่นิด เรียกว่า เอาใยแก้วมาพอกๆเอาไว้ แล้วพ่นสีทับกันเลย ต้องบอกว่าน่ากลัวสุดๆ ลองนึกสภาพว่าพาครอบครัวไปเที่ยวทะเล ลูกหลานนั่งอยู่ในเรือด้วย แล้วรอยซ่อมเกิดแตกเหมือนลำที่ผมเห็นมา จะทำยังไง ดังนั้นถ้าเห็นมีรอยซ่อม มองผ่านไปเถอะครับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ทำยังไงก็ไม่คุ้มแน่ๆครับ อย่าเห็นแค่ว่าราคาถูกเลย เพราะเรือท้องแตกผมบอกได้เลยว่าซ่อมไม่ได้ หรือ ถ้าซ่อมได้ก็ใช้งานได้ไม่ 100% ดังนั้นต่อให้เรือลำนั้นจะมีอุปกรณ์ติดเรือที่ดีขนาดใหน เครื่องยนต์ดีขนาดใหนมองผ่านได้เลยครับ เพราะยังไงก็ไม่คุ้ม

ขั้นตอนต่อไป ถ้าท้องเรือดูเรียบร้อยดี ไม่มีรอยซ่อม รอยร้าวใดๆ ทีนี้ก็ถึงเวลาดูด้านในเรือกันบ้างว่า แล้วสภาพภายในเรือเป็นยังไง พื้นเรือยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรงใช้งานได้อยู่รึเปล่า การตรวจควรที่จะขึ้นไปบนเรือ แล้วเดินดูรอบๆ สัมผัสของจริง ตรวจดูสภาพของ ที่นั่งที่ยึดที่พื้นว่ามีโยกเยก หรือ ยวบยาบรึเปล่า ถ้าไม่มีก็ค่อยสำรวจคอนโซล และ ส่วนอื่น ๆ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือดูที่ท้ายเรือว่ามีรอยร้าว หรือ ผิดรูปรึเปล่า เพราะส่วนนี้จะเป็นอีกส่วนที่สำคัญมากๆเพราะเป็นที่แขวนเครื่องยนต์ ถ้ามีรอยร้าว หรือ รอยซ่อมมาแล้วแม้แต่นิดเดียว สำหรับผม ผมว่าไม่น่าเสี่ยงครับ เพราะถ้าวิ่งๆแล้วท้ายเรือฉีกไม่สนุกแน่ๆครับ และ ซ่อมให้จบจริงๆถ้าไม่ใช่คนที่มีความรู้เรื่องเรือจริงๆทำให้จบยากมากๆ ยิ่งถ้าไปเจออู่ที่ตีหัวเข้าบ้านยิ่งอันตรายมากๆครับ หลังจากตรวจสภาพบนเรือแล้ว ถ้าทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติ ก็ถือว่าในเบื้องต้น สภาพตัวเรือน่าจะพอเอามาใช้งานได้ครับ

สำหรับเครื่องยนต์

หลังจากดูตัวเรือเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็ต้องมาดูเครื่องยนต์บ้าง ว่าเครื่องยนต์เป็นยังไง เรื่องเครื่องยนต์เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องดูกันอย่างละเอียดเลยครับ อย่าเอาแต่คำว่าสตาร์ทติด เพราะสตาร์ทติดไม่ได้แปลว่าเรือวิ่งได้เสมอไปนะครับ จากประสบการณ์ของผมเอง เครื่องบางตัวสตาร์ทติด เสียงเพราะ แต่พอเอาไปวิ่งจริงๆ ไม่มีแรงอัด เครื่องเดินไม่เต็มสูบ สูบติด แหวนหลวม ซึ่งอาการเหล่านี้ถ้าคนที่ไม่ชำนาญจริงๆอาจจะฟังไม่รู้เลยว่ามีอะไรผิดปกติ ดังนั้นแค่สตาร์ทติดไม่ได้แปลว่าจะวิ่งได้ อีกอาการนึงที่เคยเจอก็คือเพลาเกียร์คด เสียงเครื่องฟังดูดีมากๆ แต่พอจะถอดหางมาเปลี่ยนใบพัดปั๊มน้ำ ถอดยังไงก็ไม่ออก เอาไปให้ช่างช่วยถอด ขนาดใช้เครื่องไฮดรอลิกช่วยก็ยังไม่ออก จนในที่สุดต้องตัดหาง ถึงจะได้เห็นว่าเพลาคดด้านใน ดังนั้นถ้าคิดจะซื้อเรือเก่า เหมือนที่ผมมักจะย้ำอยู่เสมอ ๆ ในบทความเก่าๆของผมว่า ต้องได้ลองในน้ำจริงๆ อย่าซื้อกันบนบก เพราะเรือไม่ได้วิ่งบนบก ตราบใดที่ยังไม่ได้ลองเรือลำนั้น อย่าเพิ่งซื้อ เพราะเรายังมั่นใจไม่ได้ว่าเรือลำนั้นจะใช้งานได้จริง

ถ้าอ่านมาถึงตอนนี้จะเห็นว่าผมไม่ได้พูดถึงอุปกรณ์อื่นๆบนเรือเลย เพราะสำหรับผม อุปกรณ์อื่นๆบนเรือเป็นแค่ส่วนประกอบเล็กๆ ถ้าเสีย หรือ ไม่ดี หรือ เป็นรุ่นที่ไม่ถูกใจก็แค่ซื้อมาเปลี่ยนแค่นั้นก็จบ แต่ตัวเรือ กับ เครื่องยนต์ คือ เรื่องหลัก เพราะถ้าสองส่วนนี้ไม่ดี เรือลำนั้นก็ไม่น่าจะอยู่ในสภาพที่เอามาใช้งานได้

ตอนแรกว่าจะเขียนสั้นๆ แต่ดูแล้วเรื่องนี้สงสัยจะยาว เพราะยังไม่ได้พูดถึงการทำเรือเลย นี่แค่การตรวจสอบตัวเรือ และ เครื่องยนต์ในเบื้องต้นเท่านั้น

เที่ยวนี้เรามาพูดถึงในกรณีที่เราซื้อเรือมาแล้วบ้างว่าเราควรจะทำอะไรกับเรือของเราบ้าง มาถึงตรงนี้ผมจะไม่พูดถึงตัวเรือที่สภาพ ใช้ไม่ได้แล้วนะครับ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรซื้อมาตั้งแต่ต้นแล้ว หรือ ถ้าซื้อมาแล้ว ต้องขอบอกว่า มันเกินวิสัยที่จะทำกันเองได้แล้วครับ ยกเว้นคุณมีความรู้เรื่องการทำไฟเบอร์ หรือ มีความรู้เรื่องเรือมากพอ แต่ต้องบอกไว้ก่อนเลย ถ้าต้องทำขนาดนั้น รับรองว่าทำเสร็จแล้วแพงกว่าซื้อเรือที่ต่อใหม่ป้ายแดงแน่ๆครับ เพราะทำยากมากๆ และ ต้องให้ช่างที่ชำนาญจริงๆทำให้ เท่านั้น

หลายคนอาจจะไม่เข้าใจที่ผมบอกว่าเกินวิสัยที่จะทำกันได้เองหมายถึงอะไร ผมขอยกตัวอย่างแค่พื้นเรือแล้วกันนะครับ ไม่ต้องออกไปถึงเรื่องท้องเรือ ถ้าเรือที่เราซื้อมาพื้นเรือยวบยาบมันไม่ได้หมายความว่าพื้นเรือยวบยาบอย่างเดียวนะครับ เพราะมันหมายถึงกระดูกงูด้านล่างยวบยาบ ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงกระดูกงูผุ วิธีที่จะซ่อม ก็คือ ต้องรื้อพื้นทั้งหมดออก เพื่อที่จะเลาะกระดูกงูเก่าออกเพื่อวางกระดูกงูใหม่ และ ในขั้นตอนนี้ ถ้าอยู่ๆเรารื้อกระดูกงูออกเลย สิ่งที่จะตามมาก็คือเรือจะบิดเบี้ยวจากรูปเดิม ถึงแม้ใส่กระดูกงูไปใหม่แล้วเรือก็จะผิดรูปอยู่ดี วิธีที่ทำให้ดีที่สุด คือ ต้องเอาท้องเรือนั้นใส่กลับเข้าไปในโมลด์ แล้วค้ำยันก่อนที่จะรื้อกระดูกงู ซึ่งเรือเก่าที่ซื้อมาบ้านเราไม่มีโมลด์อยู่แล้ว นั่นหมายถึงอาจจะต้องทำโมลด์ขึ้นมาเพื่อที่จะเอาท้องเรือใส่ ซึ่งก็คงไม่มียอมทำเพราะจะแพงมากๆ ยกตัวอย่างแค่นี้พอ เพราะไม่งั้นจะยาวไปอีก เอาเป็นว่าเหมือนที่ผมได้พูดไว้ ถ้าเจอสภาพนั้น อย่าซื้อเลยครับ ยังไงก็ไม่คุ้มครับ

เรามาเข้าเรื่องกันต่อนะครับ หลังจากได้เรือมาแล้ว เอาเป็นว่าถ้าเป็นตัวผมแล้วกันนะครับว่าผมจะทำอะไรบ้าง เวลาที่ซื้อเรือเก่ามา สำหรับตัวเรือ ภายนอกผมคงยังไม่ทำอะไรมาก ใช้ตามสภาพไปก่อน แต่ภายในสิ่งที่ผมจะทำก็คือ

ตรวจดูอุปกรณ์ที่ติดเรือทุกชิ้นว่ายังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติหรือไม่ ถ้าไม่ก็เปลี่ยนเลย หรือ ถ้ายังใช้ได้แต่หน้าตาไม่ถูกใจผมก็จะถือโอกาสนี้ในการที่จะเปลี่ยนเลยเช่นกันเพราะเวลาที่ซื้อเรือเก่ามา สิ่งนึงที่ผมมักจะทำก็คือ เปลี่ยนสายไฟทั้งหมดของเรือเพราะเราไม่รู้ว่าเจ้าของเดิม เค้ามีปรับเปลี่ยน หรือ ตัดต่อสายไฟช่วงใหนมาบ้าง หรือ จุดเชื่อมต่อสายไฟมีจุดใหนที่มีปัญหาบ้าง ดังนั้นเมื่อเราเปลี่ยนสายไฟก็เลยถือโอกาสเปลี่ยนอุปกรณ์ด้วยเลยทีเดียว

พอทำเรื่องสายไฟเสร็จแล้ว สิ่งต่อไปคือ สายน้ำมัน เรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับสายไฟ เอาแบบชัวร์ๆคือเปลี่ยนเลยดีกว่า เพราะถ้าเป็นสายน้ำมันรุ่นเก่ามันจะไม่สามารถทนต่อการใช้แก็สโซฮอลล์ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่ามีอุดมีตัว หรือ มีรั่วที่ใหนบ้าง เปลี่ยนเลยมั่นใจที่สุด

ทำสายน้ำมันแล้วก็ควรที่จะยกถังน้ำมันออกมาล้าง และ ตรวจสอบด้วยว่าในถังมีสิ่งปนเปื้อนอะไรอยู่บ้างรึเปล่า และ มีจุดรั่วตรงใหนรึเปล่า เพราะจะได้ทำให้เรียบร้อยไปในทีเดียว

สายคอนโทรล และ รีโมทคอนโทรล เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องเช็คกันอย่างละเอียดเหมือนมัน เพราะเราไม่รู้ว่าสายคอนโทรลที่ติดมากับเรือ ใช้งานมานานขนาดใหนแล้ว แล้วตอนที่เค้ารื้อมามีขาดด้านในบ้างรึเปล่า ดังนั้นควรที่จะเช็คให้เรียบร้อย แล้วก็ตรวจดูรีโมทคอนโทรลว่ายังใช้งานได้ปกติรึเปล่า ถ้าไม่ปกติ ก็ต้องซ่อมให้ใช้งานได้ หรือ เปลี่ยนใหม่เลย เพื่อความมั่นใจ

แบตเตอรี่ สำหรับผมต่อให้เค้าบอกว่ายังใช้งานได้ยังไงผมก็เปลี่ยน เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเค้าใช้งานมานานแค่ใหนแล้ว และ ใกล้ที่จะเสื่อมสภาพรึยัง วิ่งไปจอดกลางทะเล แล้วสตาร์ทไม่ติดไม่สนุกแน่ๆครับ

ไฟเรือ ไม่ว่าจะไฟเขียวแดง หรือ ไฟจอดของเรือ ส่วนนี้ถ้ายังใช้งานได้ปกติ ก็อาจจะยังไม่ต้องเปลี่ยน เพราะจะหาเปลี่ยนให้ตรงกับรุ่นที่เค้าติดมาก็ยากอยุ่พอสมควร ส่วนใหญ่ต้องดัดแปลงใช้แทน ดังนั้นถ้ายังสามารถที่จะใช้งานได้อยู่ผมยังจะไม่ทำอะไรกับไฟพวกนี้ แต่ถ้าไฟไม่ติด ก็ต้องเปลี่ยนเลยครับ เพราะบางทีเราขับเรือไปตอนกลางวัน แต่กว่าจะกลับมาอาจจะค่ำมืด ถ้าไม่มีไฟเดินเรือแล้วอันตรายมากๆ

ปั๊มน้ำ และ ลูกลอยใต้ท้องเรือ ปั๊มน้ำใต้ท้องเรือ มีไว้เพื่อปั๊มน้ำที่เข้ามาที่ท้องเรือออก ถ้าปั๊มตัวนี้เสีย ก็จะทำให้น้ำเข้าท้องเรือเยอะ และ อาจจะเป็นอันตรายได้

ที่ผมเขียนมานี่จริงๆยังไม่หมดนะครับ เพราะจริงๆแล้วเวลาผมทำเรือเก่าผมจะดูค่อนข้างละเอียด เพราะเราไม่ได้จับเค้ามาตั้งแต่แรก ดังนั้นเราควรที่จะรู้ทุกส่วนของเค้า เผื่อถ้ามีอะไรผิดพลาดจะได้แก้ไขตั้งแต่ตอนยังอยู่บนบก ดีกว่าที่จะไปหาวิธีเอาตัวรอดกลางน้ำ ซึ่งผมบอกได้เลยว่าไม่สนุกเลย

 

สำหรับคนที่ซื้อเรือเก่ามา มอ่านบทความนี้แล้วอาจจะท้อ อย่าเพิ่งท้อนะครับ จริงๆมันไม่ได้ยากอะไรเลย อุปกรณ์ทุกชิ้นเค้าก็จะมีคู่มือมาให้เราอ่านว่าต้องประกอบยังไง ก็แค่ทำตามคู่มือของเค้าแค่นั้นเองครับ และ การที่เราทำเอง เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นมา เราจะได้รู้ว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร และ จะได้แก้ไขได้ถูก แต่ถ้าทำเองไม่ได้จริงๆ ก็สามารถที่จะลากเรือไปให้อู่เรือที่เรารู้จักเค้าช่วยทำให้ก็ได้ครับ ส่วนถ้าคนที่ไม่ได้รู้จักกับอู่ใหน ลองหาข้อมูลดูครับ ว่าอู่เรืออู่ใหน ที่อยู่มานานๆ มีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และมีชื่อเสียงที่ดี ซึ่งก็มีอยู่หลายอู่นะครับ ถ้าไม่รู้จักจริงๆ เขียนถามมาเป็นการส่วนตัวก็ได้ครับ แต่ต้องระวังอย่าเอาไปให้พวกช่างที่ตัวหัวเข้าบ้าน หรือ เอาไปพวกคนขายเรือที่ไร้จรรยาบรรณทำนะครับ เพราะนอกจากจะไม่จบแล้ว ยังจะเจ็บด้วยครับ

 

ผมหวังว่าสิ่งที่ผมเขียนมาให้อ่านกันในวันนี้คงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับเพื่อนๆที่เพิ่งจะมีเรือเป็นลำแรก และ เพิ่งซื้อเรือเก่ามานะครับ

 

Comments

About the author:

Avatar photo

. Follow him on Twitter / Facebook.