แนะนำทุ่นเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ
ท่านที่เคยเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล หลายท่านคงเคยเห็นทุ่นเครื่องหมายในแนวทางเดินเรือและในร่องน้ำทางเดินเรือต่าง ๆ สีแดงบ้าง สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง บางทีก็เป็นลูกผสม หลากสีแตกต่างกันไป ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ทุ่นเครื่องหมายช่วยการเดินเรือต่าง ๆ เหล่านี้บอกความหมายอะไรแก่นักเดินเรือบ้าง
ทุ่นเครื่องหมายช่วยการเดินเรือมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบสามารถนำมาใช้ประกอบร่วมกันได้ และที่ใช้กันในน่านน้ำไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 แบบ ดังนี้ (กำหนดโดย INTERNATIONAL ASSOCIATION OF LIGHTHOUSE AUTHORITIES, IALA)
1. ทุ่นเครื่องหมายแสดงขอบเขตทางข้างแนวทางเดินเรือ (LATERAL MARKS)
เป็นทุ่นเครื่องหมายที่ใช้สำหรับแสดงขอบของร่องน้ำ เพื่อบอกแนวทางเดินเรือ จะใช้ร่วมกับทุ่นบอกทิศทางตามปกติ โดยทั่วไปจะใช้กับร่องน้ำแนวทางเรือเดินที่ได้กำหนดขอบเขตร่องน้ำไว้แน่นอนแล้ว โดยทุ่นเครื่องหมายเหล่านี้จะอยู่ทางด้านกราบซ้ายและกราบขวาของเส้นทางเดินเรือในทิศทางที่เรือแล่นเข้ามาจากทะเล (from seaward) เพื่อที่จะเข้าเทียบท่าเรือ, แม่น้ำ, ปากแม่น้ำหรือเส้นทางทางน้ำอื่น ๆ ที่มีทิศทางที่เรือแล่นเริ่มมาจากทะเล
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแสดงขอบเขตทางข้างแนวทางเดินเรือทางด้านกราบซ้ายของเรือ
สี : แดง
รูปร่าง ( ทุ่น ) : ทรงกระบอก (กระป๋อง), เสาหรือขอน
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : ทรงกระบอก (กระป๋อง) ทาสีแดง 1 อัน
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีแดงกระพริบจังหวะใด ๆ ก็ได้
หมายเลข (ถ้ามี) : หมายเลขคู่เรียงตามลำดับจากทะเลเข้าหาฝั่ง
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแสดงขอบเขตทางข้างแนวทางเดินเรือทางด้านกราบขวาของเรือ
สี : เขียว
รูปร่าง ( ทุ่น ) : รูปกรวย, เสาหรือขอน
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : รูปฝาชีทาสีเขียวปลายแหลมชี้ขึ้น 1 ลูก
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีเขียวกระพริบจังหวะใด ๆ ก็ได้
หมายเลข (ถ้ามี) : หมายเลขคี่เรียงตามลำดับจากทะเลเข้าหาฝั่ง
2. ทุ่นเครื่องหมายแจ้งสิ่งอันตราย (CARDINAL MARKS)
เป็นทุ่นเครื่องหมายที่ใช้สำหรับบอกให้รู้ว่าทิศทางในการเดินเรือด้านใดเป็นด้านที่ปลอดภัยต่อการเดินเรือและสามารถจะแล่นผ่านสิ่งอันตรายนั้น ๆ ได้ โดยเสี้ยวทั้งสี่ของทุ่นเครื่องหมายแจ้งสิ่งอันตรายที่วางไว้ในทิศทั้งสี่ คือ ทิศเหนือ, ทิศตะวันออก, ทิศใต้และทิศตะวันตกนั้น จะเป็นแบริ่งจริง คือ จะอยู่ระหว่างทิศตะวันตกเฉียงเหนือ – ตะวันออกเฉียงเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันออกเฉียงใต้, ตะวันออกเฉียงใต้ – ตะวันตกเฉียงใต้, ตะวันตกเฉียงใต้ – ตะวันตกเฉียงเหนือ นับจากจุดที่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแจ้งสิ่งอันตรายที่วางไว้ทางทิศเหนือ
สี : สีดำอยู่บนสีเหลือง
รูปร่าง ( ทุ่น ) : ไม่จำกัด, เสาหรือขอน
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : รูปฝาชีทาสีดำ 2 อันซ้อนกัน ปลายแหลมชี้ขึ้น
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีขาวกระพริบจังหวะเร็วมากหรือเร็ว
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแจ้งสิ่งอันตรายที่วางไว้ทางทิศใต้
สี : สีเหลืองอยู่บนสีดำ
รูปร่าง ( ทุ่น ) : ไม่จำกัด, เสาหรือขอน
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : รูปฝาชีทาสีดำ 2 อันซ้อนกัน ปลายแหลมชี้ลง
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีขาวกระพริบจังหวะเร็วมาก 6 วับ และวาบยาวทุก 10 วินาที หรือจังหวะเร็ว 6 วับและวาบยาว ทุก 15 วินาที
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแจ้งสิ่งอันตรายที่วางไว้ทางทิศตะวันออก
สี : สีดำมีแถบสีเหลืองขนาดกว้างคาดตามแนวนอน 1 แถบ
รูปร่าง ( ทุ่น ) : ไม่จำกัด, เสาหรือขอน
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : รูปฝาชีทาสีดำ 2 อันซ้อนกัน ฐานชนกัน
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีขาวกระพริบจังหวะเร็วมาก 3 วับ ทุก 5 วินาทีหรือจังหวะเร็ว 3 วับ ทุก 10 วินาที
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแจ้งสิ่งอันตรายที่วางไว้ทางทิศตะวันตก
สี : สีเหลืองมีแถบสีดำ ขนาดกว้างคาดตามแนวนอน 1 แถบ
รูปร่าง ( ทุ่น ) : ไม่จำกัด, เสาหรือขอน
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : รูปฝาชีทาสีดำ 2 อันซ้อนกัน ปลายแหลมชนกัน
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีขาวกระพริบจังหวะเร็วมาก 9 วับ ทุก 10 วินาที หรือจังหวะเร็ว 9 วับ ทุก 15 วินาที
3. ทุ่นเครื่องหมายแสดงสิ่งอันตรายโดดเดี่ยว (ISOLATED DANGER MARKS)
เป็นทุ่นเครื่องหมายที่สร้างขึ้นบนสิ่งอันตรายนั้นหรือทอดสมอไว้บนสิ่งอันตรายนั้น โดยบริเวณรอบ ๆ สิ่งอันตรายมีน้ำลึกพอที่เรือจะแล่นผ่านได้
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแสดงสิ่งอันตรายโดดเดี่ยว
สี : สีดำมีแถบสีแดง 1 แถบหรือหลายแถบคาดตามแนวนอน
รูปร่าง ( ทุ่น ) : ไม่จำกัด, เสาหรือขอน
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : ลูกกลม 2 ลูกซ้อนกัน ทาสีดำ
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีขาวกระพริบวับเป็นหมู่ 2 วับ
4. ทุ่นเครื่องหมายแสดงบริเวณที่ปลอดภัย (SAFE WATER MARKS)
เป็นทุ่นเครื่องหมายที่แสดงให้ทราบว่ารอบ ๆ บริเวณเครื่องหมายนั้นเป็นบริเวณที่ปลอดภัยเรือสามารถแล่นผ่านได้ เครื่องหมายเหล่านี้จะรวมถึงเครื่องหมายแสดงแนวกลางร่องน้ำและแสดงจุดกึ่งกลางร่องน้ำต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ทุ่นเครื่องหมายแสดงบริเวณที่ปลอดภัยยังสามารถใช้เป็นเครื่องหมายแสดงบริเวณปากแม่น้ำหรือบริเวณที่เริ่มเห็นฝั่ง หรือเป็นย่านเข้าใกล้ท่าเรือได้อีกด้วย
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายแสดงบริเวณที่ปลอดภัย
สี : แถบสีแดงและสีขาวในทางตั้ง
รูปร่าง ( ทุ่น ) : กลม, เสาหรือขอน มีลูกกลมเป็นเครื่องหมายบนยอด
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : ลูกกลมทาสีแดงลูกเดียว
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีขาว จังหวะไฟที่กระพริบเท่ากันหรือไฟวาบหรือวับยาว 1 วับ ทุก 10 วินาที หรือจังหวะไฟสัญญาณสากลอักษร ” A”:
5. ทุ่นเครื่องหมายพิเศษ (SPECIAL MARKS)
เป็นทุ่นเครื่องหมายต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์สำหรับใช้แสดงให้ทราบถึงพื้นที่บริเวณใด ๆ เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะหรือตามลักษณะที่แจ้งไว้ในเอกสารการเดินเรือต่าง ๆ แต่ไม่ประสงค์จะใช้ช่วยการเดินเรือเป็นสำคัญ เช่น เครื่องหมายแสดงที่ทิ้งมูลดิน, เครื่องหมายแสดงบริเวณการฝึกทางทหาร, เครื่องหมายแสดงสายเคเบิลและท่อ, เครื่องหมายแสดงปลายท่อทางระบายน้ำ, เครื่องหมายแสดงที่จอดเรือกักกันโรคติดต่อ, เครื่องหมายแสดงบริเวณที่หย่อนใจทางน้ำ (เช่น สนามกีฬาทางน้ำ)
ลักษณะทุ่นเครื่องหมายพิเศษ
สี : เหลือง
รูปร่าง ( ทุ่น ) : ไม่จำกัด
เครื่องหมายยอด (ถ้ามี) : เครื่องหมายกากะบาดทาสีเหลือง 1 อัน
ไฟ (ถ้ามี) : ใช้ไฟสีเหลืองกระพริบจังหวะใด ๆ ก็ได้
ตอนนี้ ก็คงพอทราบถึงแบบและลักษณะของทุ่นเครื่องหมายช่วยการเดินเรือกันบ้างแล้วว่ามีกันกี่แบบและแต่ละแบบมีรูปร่างลักษณะอย่างไร รูปร่างลักษณะหน้าตาของทุ่นเหล่านี้เป็นอย่างไร และมีตำแหน่งหรือทิศการวางอย่างไรบ้าง
ขอขอบคุณกรมเจ้าท่าสำหรับข้อมูลดีๆนะครับ