ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี

ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี

สำหรับเรือพระราชพิธีที่เข้าร่วมในกระบวนพยุยาตราชลมารคนั้นแรกเริ่มเดิมทีนั้น “เรือพระราชพิธี” ได้หามีไม่คงมีแต่เรือรบโบราณซึ่งใช้ในแม่น้ำและ ออกสู่ท้องทะเล ต่อมาการรบทัพจับศึกในแม่น้ำหมดสิ้นความสำคัญไปทีละน้อย เรือรบในแม่น้ำซึ่งเป็นเรือยาวทำด้วยไม้ใช้ฝีพายล้วนเหล่านี้จึงกลายมาเป็น เรือที่ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินโดย กระบวนพยุหยาตราชลมารคมาจนเท่าทุกวันนี้

ซึ่งในประวัติศาสตร์การรบพุ่งของชาติไทยเราอันมีราชธานีเก่า คือ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งแวดล้อมด้วยแม่น้ำ ลำคลองมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะ ต้องใช้เรือรบในแม่น้ำเป็นสำคัญ และ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ก็ทรงมียุทธวิธีที่จะรักษาพระนครโดยอาศัยกำลังทัพเรือ จึงทรงประ ดิษฐ์เรือไชยและเรือรูปสัตว์ขึ้นต่อมาก็ยังประดิษฐ์เรือกราบขึ้นอีกชนิดหนึ่งด้วย เรือรบโบราณเหล่านี้จึงแบ่งประเภทออกเป็น ๔ ชนิด คือ

๑. เรือแซ เป็นเรือโบราณของไทยซึ่งใช้ในแม่น้ำ เหตุที่ชื่อ “ แซ ” นั้น หมายถึงแม่น้ำ เรือชนิดนี้ใช้ในการลำเลียงพล ศาสตราวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียง กรัง เป็นเรือที่แล่นค่อนข้างช้า

๒. เรือไชย เป็นเรือที่ใช้ลำเลียงพลเช่นกัน และแล่นเร็วกว่าเรือแซ

๓. เรือรูปสัตว์ เรือชนิดนี้จะทำหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีครุฑ พญานาค เป็นต้น ใต้รูปสัตว์ก็จะมีช่องวางปืนใหญ่ ใช้เป็นเรือปืนด้วย

๔. เรือกราบ มีลักษณะคล้ายเรือไชย แต่แล่นเร็วกว่า

ในสมัยต่อมาการรบทัพจับศึกในแม่น้ำได้หมดสิ้นไปทีละน้อย เรือรบในแม่น้ำเหล่านี้ จึงได้กลายมาเป็นเรือพระราชพิธีต่าง ๆ แม้ว่าจะสร้างขึ้นด้วย จุดประสงค์เพื่อใช้ในการสงครามแต่ก็เป็นเรือที่แกะสลักปิดทองเป็นลวดลายวิจิตรสวยงาม โดยเฉพาะหัวเรือและท้ายเรือเป็นส่วนที่สวยงามมาก บ้าง ก็จะเป็นรูปสัตว์ ยักษ์ และลิง ในวรรณคดีไทย ส่วนลำเรือนั้น ขุดจากซุงทั้งต้นส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ตะเคียน เรือบางลำจึงจะเห็นว่าทำจากต้นไม้ที่ใหญ่ มาก เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีความยาวถึง ๔๔.๙๐ เมตร และความกว้าง ๓.๑๕ เมตร และเรือทุกลำล้วนใช้ฝีพายจำนวนมากมายในการแล่นเรือ ให้เคลื่อนไปอย่างคล่องแคล่วราวมีชีวิตชีวา

อย่างไรก็ดี เรือพระราชพิธีเป็นชื่อที่ใช้เรียกรวมถึงเรือชนิดต่างๆ ซึ่งใช้ประกอบในกระบวน พยุหยาตราชลมารคโดยที่เรือเหล่านี้ล้วนมีลักษณะ และหน้าที่ต่างกันออกไป

ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้น เรือที่สำคัญที่สุดคือ เรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็น เรือที่พระมหากษัตริย์ประทับ ถ้าหากจะเทียบประเภทกับเรือรบโบ ราณแล้วเรือชนิดนี้ก็คือเรือไชยนั่นเอง เรือพระที่นั่งทุกลำจะประดับประดา และเขียนลวดลายวิจิตรยิ่งแต่มีข้อที่แตกต่างจากเรือลำอื่นก็คือเรือพระที่นั่ง จะไม่มีการกระทุ้งเส้าให้จังหวะฝีพาย โดยเปลี่ยนมาใช้กรับแทน นอกเหนือจากนี้แล้ว เรือพระที่นั่งยังมีชื่อที่เรียกต่าง ๆ ออกไป ได้แก่

– เรือต้น คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในภายหลังหมายถึงเรือลำที่เสด็จ ฯ ลำลองเป็นการประพาสต้น

– เรือพระที่นั่งทรง , เรือพระที่นั่งรอง คือ เรือลำที่พระมหากษัตริย์ประทับ และขณะเดียวกันก็มี เรือพระที่นั่งอีกลำสำรองไว้ในกรณีที่เรือพระที่นั่ง ทรงชำรุด

– เรือพลับพลา คือ เรือที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เปลี่ยนเครื่องทรง

– เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุดของเรือพระที่นั่ง ซึ่งจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความเป็นมาว่ากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยา พระองค์หนึ่งได้รับชัย ชนะกลับจากสงคราม มีผู้หักกิ่งไม้มาปักเข้าที่หัวเรือ นับแต่นั้นมาก็มีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือด้วยและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เรือพระที่นั่งกิ่ง”

– เรือพระที่นั่งเอกชัย เป็นเรือพระที่นั่งเกือบเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง มีการแกะสลักลวดลายสวยงามเช่นกันมักโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ประทับในเรือพระที่นั่งเอกชัยร่วมไปในกระบวน พยุหยาตราชลมารค ครั้นถึง สมัยรัตนโกสินทร์ก็แทบจะไม่มีการแบ่งแยกชั้น เรือพระที่นั่งกิ่ง และเรือ พระที่นั่งเอกชัยเลย

– เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เป็นเรือที่มักดาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ ต่อมาเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า “เรือพระที่นั่งศรี” เรือพระที่นั่งชนิดนี้มักมีลวด ลายสวยงามตลอดข้างลำเรือ ใช้สำหรับการเสด็จฯ ลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธีต่อมาภายหลังได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วยเช่นกัน

– เรือพระที่นั่งกราบ เรือพระที่นั่งลำเล็กสำหรับใช้ถ่ายลำเสด็จเข้าคูคลองเล็กๆ

– เรือพระประเทียบ คือเรือที่นั่งสำหรับเจ้านายฝ่ายใน

สำหรับเรือพระที่นั่งแทบทุกลำจะต้องทอดบัลลังก์กัญญา ทอดบัลลังก์บุษบก หรือพระที่นั่งกง ในส่วนกลางลำเรืออันเป็นที่ประทับ ส่วนบัลลังก์ กัญญา มีหลังคาเป็นประทุนรูปคุ่ม มีม่านทอดและที่สำหรับนั่งราบ หรือนั่งห้อยเท้าอย่างเก้าอี้ได้ ส่วนบัลลังก์บุษบก เป็นรูปบุษบกมีฐานสี่เสา หลังคา บุษบกมี ๕ ชั้น ปลายยอดมีพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ และพระที่นั่งกง รูปร่างคล้ายเก้าอี้และยกขึ้นสูง ประดับประดาอย่างงดงาม

สำหรับในสมัยโบราณนั้นมีเรือพระที่นั่งมากมายหลายลำ แต่ที่มีหลักฐานกล่าวถึงกระบวนเรือ และชื่อเรือพระที่นั่งที่เก่าแก่ที่สุดของไทยคือพระเรือ พระที่นั่งชัยเฉลิมธรนินกับเรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมาน ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ปรากฏว่ามี เรือพระที่นั่งในรัชกาล สมเด็จพระพิชัยราชาชื่อ อ้อมแก้วแสนเมืองมา และ ไกรแก้ว ส่วนในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีเรือพระที่นั่งชื่อ สุพรรณหงส์ และในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้พบบันทึกว่ามีเรือพระที่นั่งสุพรรณวิมานนาวา ซึ่งทรงใช้เพื่อเสด็จไปยังเมืองเพชรบุรีและสามยอด ในสมัยสมเด็จพระ นารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการเขียนภาพ ริ้วกระบวนเสด็จไว้ในหนังสือ “ ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ” ซึ่งได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว มีชื่อเรือพระที่นั่งหลายลำปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งชลวิมานไชย เรือพระที่ นั่งไกรษรมาศ และเรือพระที่นั่งศรีพิมานไชย เป็นต้น ต่อจากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ปรากฏชื่อเรือพระ ที่นั่งไกรสรมุขพิมาน และรัชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ มีเรือพระที่นั่งมหานาวาท้ายรถ และเรือพระที่นั่งเอกชัย จนถึงปลายกรุง ศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมานและเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย ซึ่งในยุคนี้ก็ยังมีพระราชพิธีกระบวนพยุหยา ตราชลมารคอยู่

เมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา กระบวนเรืออันยิ่งใหญ่ของไทยที่สร้างสมติดต่อกันมาหลายรัชสมัย ก็สูญสิ้นไปในกองเพลิงเป็นจำนวนมาก จนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงเร่งให้สร้างเรือพระราชพิธีขึ้นสำหรับใช้ราชการศึกสงคราม ปรากฏเรือพระที่นั่งในรัชกาลนี้คือ เรือพระที่นั่ง สุวรรณพิชัยนาวาท้ายรถและเรือพระที่นั่งกราบ

ในสมัยรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีเรือพระที่นั่งปรากฏอยู่หลายลำ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ สวัสดิชิงชัย บัลลังก์บุษบกพิศาล พิมานเมืองอินทร์ บัลลังก์ทินกรส่องศรี สำเภาทองท้ายรถ มณีจักรพรรดิ และศรีสมรรถไชย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มี การสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นอีกหลายลำ คือ เรือพระที่นั่งรัตนดิลก ศรีสุนทรไชย มงคลสุบรรณ สุวรรณเวหา และ สุดสายตา ในรัชกาลที่ ๔ โปรด ฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช รัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ส่วนรัชกาลที่ ๖ โปรด ฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณ หงส์แทนเรือพระที่นั่ง ศรีสุพรรณหงส์องค์เดิม และสร้างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชแทนลำเดิมเช่นกัน

 

และเนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ กองทัพเรือได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่โดยใช้โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำเดิมเป็นต้น แบบ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่อไป และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ว่า“ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ” ซึ่งจะปรากฏ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพและเป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดินสืบไปชั่วกาลนาน

เรือที่ประกอบอยู่ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งนอกจากเรือพระที่นั่งแล้วยังมีเรืออีกมากมายหลายซึ่งมีลักษณะหน้าที่ต่างๆกันออกไปซึ่ง ก็มี ดังนี้

– เรือดั้ง คือ เรือที่ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนหน้า เพราะคำว่า “ ดั้ง ” หมายถึง “ หน้า ” เรือดั้งเป็นเรือที่มีส่วนหัวตั้งสูงงอนขึ้นไปเป็นเรือไม้ก็มี เป็น เรือปิดทองก็มี

– เรือพิฆาต เป็นเรือรูปสัตว์ที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำหน้าที่นำกระบวนเรือตับแรก เรือพิฆาต แม้จะเป็นเรือรูปสัตว์เช่นเดียวกับเรืออื่น ๆ แต่เป็นเรือ รูปสัตว์ชั้นรอง จึงเขียนรูปด้วยสีธรรมดาไม่ปิดทอง

– เรือประตู คือ เรือที่ใช้คั่นระหว่างกระบวนย่อย

– เรือแซง เรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์

–  เรือกัน เป็นเรือที่ป้องกันศัตรูมิให้จู่โจมมาถึงเรือพระที่นั่ง ใกล้ชิดยิ่งกว่าเรือแซง

– เรือคู่ชัก คือ เรือไชยหรือเรือรูปสัตว์ที่ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่ง ซึ่งใหญ่และหนักมากแต่ในบางครั้ง ฝีพายไม่เพียงพอ

– เรือตำรวจ คือ เรือที่พระตำรวจหรือข้าราชการในพระราชสำนักลงประจำหน้าที่เป็นองครักษ์

– เรือรูปสัตว์ มีหัวเรือเป็นศรีษะสัตว์ เรือเหล่านี้อาจจะเป็นเรือพิฆาต เรือเหล่าแสนยากร เรือพระที่นั่งได้ทั้งสิ้น สุดแท้แต่ความโอ่อ่าของเรือ ซึ่งใน สมัยต่าง ๆ เคยมีเรือรูปสัตว์ดังต่อไปนี้ คือ ราชสีห์ ม้า เลียงผา นกอินทรี สิงโต มังกร นาค ครุฑ ปักษี หงส์ เหรา กระโห้ ฯลฯ

– เรือกระบวนปิดทอง เป็นเรือที่มีหัวปิดทองเป็นรูปต่าง ๆ สวยงาม ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นเรือเอกชัยและเรือศรีษะสัตว์ทั้งสิ้น

– เรือกลอง คือ เรือสัญญาณ ที่ให้เรืออื่นหยุดพายหรือจ้ำโดยใช้กลอง ต่อมาใช้แตรฝรั่งที่มีเสียงดังไกลกว่าแทนแต่คงเรียกเรือกลองเช่นเดิม

เรือพระราชพิธีชนิดต่าง ๆ เหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในกระบวนเรือรบโบราณตั้งแต่ครั้งในอดีต อีกทั้งยังมีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไทยเราเหล่าเรือที่ตกทอดมานี้จะได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่อย่างสวยงาม เพื่อใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงแสนยานุภาพ อันยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือไทยแต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ที่ความยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมไทยจะได้ประจักษ์ต่อสายตานานาอารยประเทศ ไปอีกนานเท่านาน

 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

 

Comments

About the author:

Avatar photo

. Follow him on Twitter / Facebook.