เทคนิคการขับเรือ 11 ฟุต (พิมพ์นิยม)

นักเล่นเรือหลายคนเริ่มต้นจากการขับเรือเล็ก และก็มีอีกไม่น้อยที่เลิกเล่นเรือก็เพราะเรือเล็ก ผมได้ยินและได้เห็นนักเล่นเรือมือใหม่หลายคนต่างพูดกันต่างๆ นาๆ ถึงปัญหาของเรือเล็ก เช่น ขับแล้วเรือแฉลบบ้าง หรือ ไม่ก็เรือมุดน้ำ บางคนก็บอกว่าเรือไม่ขึ้นน้ำบ้าง ถ้าขึ้นน้ำแล้วเรือมีอาการต่างๆ นาๆ ขอออกตัวก่อนนะครับผมเองก็ไม่ใช่ผู้รู้อะไรมากมาย เรื่องที่กำลังจะบอกเล่าต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์ของตัวเองล้วนๆ ถ้าใครมีความคิดความเห็นเพิ่มเติม หรือ คิดขัดแย้งประการใดก็เอามาลงต่อได้นะครับ จะได้เป็นความรู้ให้นักเล่นเรือมือใหม่ หรือ คนที่กำลังสนใจที่จะเล่นเรือเล็กไว้ศึกษาครับ

เทคนิคการขับเรือ  11 ฟุต (พิมพ์นิยม) | Thai Boat Club

สำหรับเทคนิคการขับเรือเล็ก 11 ฟุต ก่อนอื่นเลยก่อนที่เราจะลงเรือ สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลย คือ ต้องสวมชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือ และ ต้องคล้องสายเซฟตี้ไว้กับตัวตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาดเพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดได้ทุกเวลากันไว้ดีกว่าแก้ครับ หลังจากที่ลงน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้วเราควรจะต้องศึกษาถึงอาการของเรือของเราก่อนครับ ว่าเรือของเรานั้นมีอาการอย่างไร จะได้ไม่ตกใจเวลาที่ลงไปเล่น ยิ่งสำหรับมือใหม่อาจจะทำให้ตกใจ หรือ กลัวจนเลิกเล่นไปเลยก็มีให้เห็นมาแล้วไม่น้อยเลยครับ สำหรับเรือเล็กนั้น เราต้องเข้าใจว่าเรือเล็กจะเพลนน้ำ หรือ ว่าขึ้นน้ำยากกว่าเรือที่มีขนาดยาวกว่า และ ด้วยความที่ขนาดของตัวเรือที่สั้นกว่าเวลาที่เจอคลื่นก็อาจจะมีอาการเอียงมากกว่าเป็นของตามมาเช่นกันครับ

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาของเรือเล็กเรามาพูดถึงเรื่องเครื่องกันสักนิดก่อนนะครับ การแขวนเครื่องสำหรับเรือเล็กมีความสำคัญมาก ๆ เช่นกันครับ เพราะอาการของเรือหลาย ๆ อาการเกิดการแขวนเครื่องนี่แหระครับ หลาย ๆ คนบอกว่าแค่แขวนเครื่องไว้ตรงกลางลำเรือก็พอ ถูกครับ แต่ยังถูกไม่หมด นอกจากที่เราจะต้องแขวนเครื่องให้อยู่กลางลำเรือแล้ว เราต้องสังเกตที่ท่อนล่าง หรือ หางของเครื่องด้วยครับ อย่าให้หางลงต่ำกว่าจุดต่ำสุดของเรือมากนัก จุดที่ดีที่สุดน่าจะดูจากที่แพนหางด้านล่างให้พอดีกับท้องเรือครับ เพราะถ้าหางลงต่ำกว่าท้องเรือมาก นอกจากที่จะทำให้ขึ้นน้ำได้ช้า หรือ ไม่ขึ้นน้ำเลย ยังทำให้เครื่องกินน้ำมันมากขึ้นไปอีก เพราะว่ายิ่งหางลงไปยาวเท่าไหร่ก็จะเกิดการต้านน้ำมากขึ้นนอกจากจะเสียพลังงานของเครื่องยนต์โดยใช่เหตุแล้วเวลาที่เข้าตื้นหางก็อาจจะไปกระแทกกับพื้นทำให้เสียหายได้ และ สำหรับเรือเล็ก ๆ ถ้าเกยตื้น หรือ หางไปชนกับพื้นถ้ามาช้า ๆ ก็ยังไม่เท่าไหร่น่าจะควบคุมอาการได้บ้าง แต่ถ้ามาด้วยความเร็วโอกาสที่จะเกิดอุบัติอย่างรุนแรงเป็นไปได้สูงทีเดียวครับ เช่น เครื่องหลุด หรือ หางกระดกขึ้นทำให้เสียการควบคุม และ อาจจะทำให้เรือพลิกคว่ำได้ครับ สำหรับอาการของเครื่องหลุดนั้น ถ้าหลุดลงน้ำไปเลยสิ่งที่เราต้องเสียแน่ ๆ คือ ต้องจ้างคนมางม และ ถ้าได้เครื่องขึ้นมาแล้วก็ไม่แน่ว่าอาการจะสาหัสขนาดใหน และ ส่วนใหญ่เวลาที่เครื่องหลุดเรือจะสะบัดอย่างรุนแรง อาจจะทำให้เราตกน้ำได้ครับ แต่ถ้าเครื่องหลุดแล้วกระเด็นกลับขึ้นมาบนเรือ อันนี้น่ากลัวมาก ๆ เพราะใบจักรที่หมุดด้วยรอบสูง ๆ ถ้าโดนเนื้อของเรารับรองว่าคุณหมอไม่อยากจะเย็บให้แน่ๆครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเราคล้องสายเซฟตี้ไว้กับตัวถ้าเครื่องหลุด หรือ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเมื่อสายเซฟตี้หลุดเครื่องก็หยุดทันที อย่างน้อยก็ลดอัตราเสี่ยงที่จะโดนใบจักรฟันไปได้เยอะเลยครับ

เทคนิคการขับเรือ  11 ฟุต (พิมพ์นิยม) | Thai Boat Club

นอกจากที่เราควรจะเช็คระยะของการแขวนเครื่องแล้ว ทริมก็เป็นอีกส่วนนึงที่สำคัญมาก ๆ เช่นกันครับ นักเล่นเรือมือใหม่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เข้าใจว่าทริมตัวนี้มีหน้าที่ไว้ทำอะไร ทริมมีหน้าที่ในการปรับองศาของเครื่องยนต์ที่แขวนอยู่ที่ท้ายเรือของเราครับ องศาที่ต่างกันก็ให้คุณลักษณะที่ต่างกันครับ การปรับทริมไว้ให้เครื่องอยู่ในจุดต่ำที่สุด ที่จุดนี้เรือจะขึ้นน้ำได้เร็ว และ หัวเรือจะไม่เชิดขึ้นมากนัก แต่ก็จะได้ความเร็วปลายลดลง เหมาะสำหรับเวลาเล่นเรือในที่ ๆ มีคลื่นมากครับ แต่ถ้าปรับทริมให้เครื่องยกหางสูงสุด เรือจะขึ้นน้ำได้ช้าลงกว่าเดิมเล็กน้อย หัวเรือจะเชิดมากขึ้น และ ทำให้ได้ความเร็วปลายดีขึ้น แต่การปรับทริมแบบนี้ไม่เหมาะกับที่ ๆ มีคลื่นนะครับ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการเรือแฉลบได้ แต่ถ้าสำหรับคนที่เล่นเรือมานาน ๆ และ รู้อาการของเรือตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะปรับทริมไว้ตรงใหนก็สามารถที่จะผ่านอุปสรรคไปได้อย่างไม่อยากเย็นนักครับ

เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแขวนเครื่องยนต์ และ การปรับทริมไปแล้ว จากนี้เรามาพูดถึงการขับกันบ้างครับ การขับเรือเล็กนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ยากเย็น แบบที่หลาย ๆ คนพูดกัน บางคนเคยขับเรือเล็กแค่ครั้งเดียวก็โบกมือลาซะแล้ว การที่เราขับเรือเล็กเราต้องคิดเสมอว่าเรือของเรานั้นทั้ง เล็ก และ สั้น ดังนั้นจะไปขับแบบเรือที่ทั้งใหญ่ และ ยาวกว่าไม่ได้ เช่นการวิ่งชนคลื่นด้วยความที่เรือของเราเล็ก และ สั้น ถ้าชนคลื่นใหญ่ ๆ ตรง ๆ คลื่นลูกแรกเราอาจจะพ้นได้อย่างไม่อยากเย็นเท่าไหร่นัก แต่เจ้าลูกที่สอง สามและสี่ ที่ตามมานี่ซิ ส่วนใหญ่ไม่เกินลูกที่สองก็หน้าซีดแล้วครับ เพราะเวลาที่เราลงจากคลื่นลูกแรกหัวเรือจะกดลงน้ำพอคลื่นลูกที่สองซัดเข้ามาน้ำจะเข้ามาในตัวเรือของเรา และ ด้วยลักษณะของหัวเรือที่กดลงอยู่ถ้ามีน้ำเข้ามาในตัวเรืออีกอาการที่จะตามมาก็คือ หัวเรือจะมุดน้ำ และ เมื่อหัวเรือมุดน้ำเรือมีโอกาสที่จะจมได้ครับ คำถามต่อมาคือ และ ถ้าเราเจอกับสถานการณ์แบบนี้ เช่นเรือใหญ่วิ่งผ่านเราไปด้วยความเร็วสูงคลื่นที่ตามมาก็ใหญ่จะทำอย่างไร ก่อนอื่นเลยคือทำใจครับ ที่ว่าทำใจนี่ไม่ได้ให้ปลงนะครับ ทำใจให้สบาย ๆ ไม่ต้องกลัว เบาเครื่องลงเล็กน้อย หันหัวเรือให้ทแยงมุมกับคลื่นที่กำลังซัดเข้ามาเป็นมุม 45 องศา การหันหัวเรือเข้าหาคลื่นที่มุมแบบนี้เท่ากับจะยืดระยะของตัวเรือของเรากับคลื่นที่ซัดเข้ามาได้พอสมควร และ ทำให้หัวเรือของเราจะลอยอยู่บนคลื่นลูกหน้า และ ท้ายเรือของเราจะอยู่บนลูกที่เราเพิ่งผ่านมา วิธีนี้หัวเรือของเราจะไม่มุดน้ำ และ เมื่อหัวเรือของเราอยู่บนคลื่นลูกด้านหน้าเร่งเครื่องขึ้นเล็กน้อย เพื่อที่จะให้หัวเรือของเราไปจับอยู่กับคลื่นลูกข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆ แค่นี้เราก็สามารถที่จะผ่านคลื่นลูกใหญ่ๆ ไปได้อย่างสบายแล้วล่ะครับ

ก่อนจะจบขอย้ำอีกครั้งว่าที่เขียนมาทั้งหมดมาจากประสบการณ์การเล่นเรือเล็กของผมเอง ถ้าใครคิดต่างก็ไม่ถือว่าผิด หรือ ขัดแย้งกันนะครับ เอามาแบ่งปันกันเพื่อจะเป็นประโยชน์กับคนที่มาเล่นใหม่ ขอให้เล่นเรืออย่างสนุก และ ปลอดภัยนะครับ

Comments

About the author:

Avatar photo

. Follow him on Twitter / Facebook.