เรือจากทวีปต่างๆ
เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังวันนี้ คิดว่าไม่น่าจะจบในตอนเดียวได้ แต่จะลองพยายามดูนะครับ ถ้ามันยาวเกินไปอาจจะตัดออกเป็น 2 ภาคให้ได้อ่านกัน แต่จะพยายามจะย่อให้กระชับ แต่ได้ใจความนะครับ จะได้ไม่ต้องมีภาค 2
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผมได้นั่งศึกษาเรือแบบเจาะลึก ทีล่ะยี่ห้อว่าแต่ล่ะยี่ห้อเป็นยังไงกันบ้าง มีข้อดี และ ข้อเสียอะไรบ้าง เริ่มจากที่คิดว่าจะหาซื้อเรือใหม่ให้ตัวเองสักลำ น่าจะซื้อเรือยี่ห้ออะไรดี ดูไปดูมากลายเป็นไล่ดูเรือจากทุกทวีป หรือ จะเรียกว่าดูจากทุกประเทศเลยก็ว่าได้ เรียกว่าทั้งดูรายละเอียด อุปกรณ์ ดูโครงสร้าง ไปยันการผลิต และ การประกอบ ยิ่งดูยิ่งสนุก แต่นอกเหนือจากความสนุก กลายเป็นเริ่มบอกตัวเองว่าทำไมเรามีความรู้เรื่องเรือน้อยจัง ที่เราคิดว่าเรารู้เยอะแล้ว พอมาไล่ดูแบบจริงๆจังๆ เหมือนเราเรียนแค่อนุบาลเอง ยังมีประถม มัธยม มหาลัย ให้เราเรียนอีกเยอะแยะมากๆ พอเริ่มศึกษาลึกขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยยิ่งสนุกขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยอยากจะเอาที่นั่งศึกษา มาบอกเล่าเก้าสิบให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
รูปลักษณ์ภายนอก
เรือของแต่ล่ะทวีปต้องบอกว่า เรือจากแต่ล่ะทวีปล้วนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันแบบเห็นได้ชัดเจน เราไปไล่กันทีล่ะทวีปเลยนะครับ
เริ่มต้นด้วยเรือจากฝั่ง อเมริกา เรือของทางฝั่งอเมริกา ตัวเรือส่วนใหญ่จะดูเรียบๆ ไม่ฉูดฉาดอะไรมากนัก ยกตัวอย่างเช่น Boston Whaler, Bayliner, Glastron และ Searay รูปลักษณ์ภาพนอกไม่ได้ดูฉูดฉาดโฉบเฉี่ยวอะไรมากนัก ยกเว้น Wakeboat ที่จะออกแบบแบบมาให้ดูสปอร์ต และ โมเดิร์นมากๆ และ ก็ Bassboat ที่ทุกวันนี้ออกแบบให้ดูดุดัน และ ดูสปอร์ตมากขึ้น ส่วนเรือประเภทอื่นๆของฝั่งอเมริกาต้องบอกว่า ต้องแยกเป็นแต่ล่ะประเภทเลย เพราะในอเมริกาเอง มีการแบ่งเรือเป็นหลายประเภทมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือสำหรับเล่นน้ำจืด ซึ่งก็ยังแบ่งอีกเป็นแม่น้ำลำคลอง หรือ ทะเลสาป และ ก็ยังแบ่งแยกย่อยอีกมากมายตามวัตถุประสงค์ในการใช้เรือ เช่น Duckboat เรือที่ออกแบบมาสำหรับการล่านกเป็ดน้ำ Airboat เรือที่ติดเครื่องใบพัดไว้ด้านหลัง สำหรับวิ่งตาม Swamp หรือ วิ่งบนโคลน และ อีกหลายหลายประเภท ถ้าเป็นเรือที่วิ่งในทะเล เค้าก็ยังมีแบ่งออกไปอีกว่าเป็น Bay Boat หรือ ว่าเป็น Off Shore Boat แต่ไม่ว่าจะเป็นเรือประเภทใหน ภาพรวมของเรือจากทางฝั่งอเมริกาต้องบอกว่าหน้าตายังดูเป็นเรือแบบดั้งเดิม ที่เปลี่ยนแปลงคืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนเรือ ที่ให้กันมาแบบจัดเต็มกว่าทางทวีปอื่นๆเยอะมากๆ
เรือจากทางฝั่งยุโรป จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ถ้าเป็นเรือจาก ยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เรือจะออกแนวหรูหรา คลาสสิค ยกตัวอย่างเช่นเรือ Beneteau Barracuda หรือ Jeanneau Merry Fisher ดูเรียบๆแต่แฝงไว้ด้วยความหรูหรา ส่วนถ้าเป็นเรือจากฝั่งยุโรปตะวันออก เช่น เชค ฮังการี เรือทางนั้นจะดูออกแนว ย้อนยุคนิดๆ ถ้าดูเผินๆจะเหมือนเรือจากยุค 70 – 80 ประมาณนั้น
ส่วนถ้าเป็นเรือที่มาจากทาง สแกนดิเนเวีย เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน เรือจะออกแนวโมเดิร์นมากๆ และ รูปทรงเห็นแล้วสะดุดตา อย่างเช่นเรือ Axopar และ Saxdor ที่หน้าตาต้องบอกว่าเห็นแล้วโดนใจมากๆ และ จุดเด่นอีกจุดของเรือจากทางสแกนดิเนเวียก็คือ วัสดุที่เค้าเลือกใช้ทำเรือ ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน ดังนั้นเค้าต้องเลือกใช้วัสดุที่อึดถึกเพื่อให้สามารถทนต่อสภาพลมฟ้าอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนได้ดี อย่างเช่น อลูมิเนียม และ คาร์บอนไฟเบอร์ แต่เค้าก็มีผลิตที่เป็นไฟเบอร์กล๊าสอยู่ไม่น้อย แต่เรือไฟเบอร์ที่มาจากทางแถบสแกนดิเนียเวีย ถ้าเราดูที่ตัวเรือ และ เนื้อไฟเบอร์ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากที่อื่นๆพอสมควร จากที่เคยได้ลูบๆคลำๆมาบ้าง สังเกตได้ว่าจะมีความหนาและแน่นกว่าเรือไฟเบอร์จากที่อื่นๆพอสมควรเลยทีเดียว และ โครงสร้างภาพในก็แข็งแรงมากๆ
เรือจากทวีปเอเชีย เรือจากทวีปเอเชียส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรือมาจากเมืองจีน และ ญี่ปุ่น รูปลักษณ์ ภายนอกส่วนใหญ่จะเป็นเรือที่ออกแบบมาสำหรับตกปลา หรือ เรือสำหรับไว้ทำประมง แต่หลังๆก็เริ่มเห็นเรือหรูๆออกมาให้เราเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นเรือของ Toyota ที่มีทั้งติดยี่ห้อ Toyota และ Lexus ที่ต้องบอกว่าจอดเทียบกับเรือจากทางฝั่งยุโรป ฝรั่งมังค่าอาจจะมีเคืองนิดๆ เพราะทั้งหน้าตาดี และ หรูหราไม่แพ้กัน หรือ บางลำอาจจะหรูหรากว่าซะด้วยซ้ำ และ เรืออีกประเภทที่ทางเอเชียของเราไม่น้อยหน้าใคร และ ทุกวันนี้เหลือแข่งกันหลักๆอยู่แค่ไม่กี่ยี่ห้อ และ หนึ่งในยี่ห้อนั้นก็มาจากญี่ปุ่น ก็คือ Jet Boat ของ Yamaha แต่สิ่งที่เราพูดกันวันนี้คือเอกลักษณ์ของเรือจากแต่ล่ะทวีป บทสรุปภาพรวมของเรือจากทวีปเอเชียของเราก็คือ เรือที่มีความเป็นเรือประมง หรือ เรือตกปลา แต่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าเรือจากทางเอเชียของเราพัฒนาไปเยอะมากๆ ดูได้จากเรือตกปลารุ่นใหม่ๆของ Yamaha และ เรือของประเทศจีนทางมาจากโรงงานแถบ Qingdao หน้าตาบางลำตอนที่เห็นครั้งแรกนึกว่าเป็นเรือหรูจากยุโรปเลย
เรือจากอเมริกาใต้ และ แอฟริกา มีความคล้ายกันมากๆ ส่วนใหญ่เป็นเรือที่มีรูปทรงออกไปทางย้อนยุค เหมือนเรือยุค 70 – 80 รูปทรง เหมือนเราเรือเก่าๆมาทำใหม่
เรือจากออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เรือจากทางฝั่งนี้ มีความคล้ายกับเรือที่มาจากทางสแกนดิเนเวีย ตรงที่วัสดุที่ใช้ในการสร้างเรือ เป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทาน เพราะต้องเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวนพอๆกัน การออกแบบท้องเรือ ที่สามารถสู้ได้กับทุกสภาพอากาศ ข้อต่างที่เห็นชัดคือรูปทรง เรือจากออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ รูปทรงอาจจะไม่ล้ำเท่าเรือที่มาจากทางสแกนดิเนเวีย แต่เรื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาในเรือ และ ประโยชน์การใช้สอย การจัดวางพื้นที่ และ พื้นที่ใช้สอยบนเรือทำได้ดีกว่าเรือจากทางสแกนดิเนเวียพอสมควร ส่วนเรื่องความอึด ถึก ทนทุกสภาพอากาศ เรื่องนี้ไม่แพ้กันเลย
เราพูดถึงรูปลักษณ์ภายนอกกันไปแล้ว เที่ยวนี้เรามาพูดกันถึงภายในกันบ้างดีกว่า เรือในฝั่งของอเมริกา ต้องบอกว่าแบ่งได้เป็น 2 ค่ายใหญ่ ๆ คือ ฝั่ง Brunswick หรือ ฝั่ง Mercury และ ฝั่งของ BRP ซึ่งก็คือฝั่ง Evinrude แต่เมื่อปลายเดือน May 2020 ที่ผ่านมา BRP ได้ขาย Evinrude ให้กับทาง Mercury ไปเรียบร้อย แต่ก็เป็นการขายแค่เครื่อง Evinrude ให้เฉยๆ เค้าบอกว่าเพราะเค้าต้องการพัฒนาเรือเพียงอย่างเดียว เดี๋ยวเราคงต้องรอดูว่าทางค่าย BRP จะมีอะไรเด็ดๆออกมาให้เราเล่นกัน
กลับมาที่เรื่องภายในของเราดีกว่า อย่างที่ได้เกริ่นไปการผลิตเรือในอเมริกา หลักๆจะมี 2 ค่าย แต่ล่ะค่ายก็จะมีโรงงานหลักที่ทำการผลิต เรือยี่ห้อต่างๆ ของแต่ล่ะค่าย เช่น ฝั่ง Brunswick ก็จะมีเรือ อย่าง Searay, BayLiner, Boston Whaler และ อีกหลายยี่ห้อ ส่วนฝั่งของ BRP ยี่ห้อของเค้าเองก็จะมีพวก SeaDoo, Alumacraft, CanAm และ Telwater เป็นต้น และ ก็ยังมียี่ห้อในพันธมิตรของเค้าอีกหลายยี่ห้อ เรือในแต่ล่ะฝั่ง ต้องบอกว่ามี Platform แทบจะตัวเดียวกัน แตกต่างกันแค่การออกแบบประโยชน์ใช้สอยภายใน และ การจัดวาง และ อุปกรณ์ที่เลือกมาใช้ ตามกลุ่มลูกค้าของแต่ล่ะยี่ห้อ นอกนั้นเหมือนกันแทบจะทั้งหมด สรุปง่ายๆก็คือ มีเรือแค่จาก 2 ค่ายให้เลือกเท่านั้นเองครับ
พูดถึงภายในฝั่งอเมริกาไปแล้ว เที่ยวนี้มาฝั่งยุโรปกันบ้าง โดยภาพรวมแล้วต้องบอกว่าหน้าตาอาจจะดูดีกว่าทางฝั่งอเมริกานิดหน่อย ส่วนภายใน ต้องบอกว่าสู้ทางฝั่งอเมริกาไม่ได้เลย ภายในเรือของฝั่งยุโรป ส่วนใหญ่จะดูเรียบๆ อุปกรณ์ที่ให้มากับเรือไม่ฉูดฉาดเหมือนฝั่งอเมริกา และ ที่สำคัญ คือ เรื่องพื้นที่ใช้สอย ต้องบอกว่าอันนี้เป็นข้อเสียเปรียบของเรือทางฝั่งยุโรป เพราะถ้าเทียบกับทางฝั่งอเมริกาที่พื้นที่ ทุกพื้นที่บนเรือ เค้าออกแบบให้สามารถใช้สอยได้เกือบจะ 100% เช่น บันไดสำหรับเข้าออก หรือ ขึ้นลงเคบิ้น ที่พื้นก็ยังทำเป็นที่เก็บของ ที่เก็บแบตเตอรี่ หรือ แม้แต่ซอกเล็กซอยน้อย เค้าก็ยังจับโน่นนี่นั่นยัดเข้าไปเรียกว่าไม่ปล่อยพื้นที่ให้เสียเปล่าเลย ซึ่งทำให้เรือฝั่งอเมริกาได้คะแนนจากข้อนี้ไปแบบเต็มๆ
ส่วนเรือจากทางเอเชีย ทางอเมริกาใต้ และ แอฟฟริกา 3 โซนนี้ต้องบอกว่า เป็นรองยุโรป กับ อเมริกาค่อนข้างมาก อาจจะเป็นเพราะว่าอุปกรณ์หลักๆมาจาก 2 ฝั่งนั้น ดังนั้นเรือจากทางแทบนี้ อุปกรณ์จะพื้นๆ เหมือนที่เราเห็นในเรือบ้านเรา จะมีฉูดฉาดบ้างในบางยี่ห้อ บางลำ แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า แต่หลักๆแล้วต้องบอกว่าเบสิคมากๆ
ส่วนถ้าเป็นเรือจากทาง ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ภายในส่วนใหญ่แล้วเน้นออกทางสมบุกสมบันอาจจะเป็นเพราะสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน เหมือนทางแทบสแกนดิเนเวีย เค้าเลยมักจะเลือกใช้อุปกรณ์ที่ดูทื่อๆแน่นๆแข็งแรงๆ ส่วนการจัดวางพื้นที่ ก็คล้ายๆกับเรือจากทางฝั่งยุโรป คือ จัดพื้นที่แบบเดิมๆ ไม่ได้เน้นหรูหรา แต่เน้นการใช้งานเป็นหลัก
หวังว่าอ่านมาถึงตรงนี้น่าจะพอมองเห็นภาพว่าเรือจากทวีปใหนเป็นอย่างไรนะครับ ขอย้ำอีกนิดว่านี่เป็นจากความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง หลังจากที่นั่งดูเรือยี่ห้อต่างๆจากทั่วโลก ถ้าคนที่ติดตามเพจของเราใน Facebook น่าจะพอเห็นจากรูปของเรือยี่ห้อต่างๆที่ผมเอามาลงให้ดูกัน ว่าผมไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชังแต่ดูทุกอย่างที่เป็นเรือจริงๆ หวังว่าเพื่อนๆน่าจะได้ข้อมูลอะไรบางอย่างไม่มากก็น้อยจากบทความนี้นะครับ ขอให้เล่นเรือให้สนุก และ ปลอดภัยนะครับ